Saturday

ปณิธาน

ปณิธานคืออะไร? และทำไมเราจึงต้องตั้งปณิธาน?
ปณิธาน หมายถึง ความตั้งใจจริงที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จนไม่เห็นสิ่งอื่นมีค่าควรแก่การสนใจอีก
เหตุผลที่ทำให้ผู้บำเพ็ญธรรมในอดีต สามารถบรรลุธรรมขึ้นไปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ก็คือ ปณิธานอันยิ่งใหญ่และแกรงกล้านี่เอง
เป้าหมายสูงสุดของผู้บำเพ็ญอนุตตรธรรม คือ "บรรลุธรรม" สามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดให้ได้
พระพุทธะ ปราชญ์และอริยะทั้งหลายในอดีตล้วนแล้วแต่ได้ทรงตั้งปณิธานอันยิ่งใหญ่ ดังเช่นที่พระศรีอาริยเมตไตรยและจอมปราชญ์ขงจื้อได้ตั้งปณิธานที่จะทำให้ มนุษย์ทั้งหลายรักใคร่สามัคคีกันโดยไม่แบ่งแยก และนำคามสันติสุขร่มเย็นมาสู่โลกนี้
พระโพธิสัตว์กวนอิม ทรงตั้งปณิธานไว้ 4 ข้อ (มหาจุตรปณิธาน 4) คือ :
1. เราจะละกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้น
2. เราจะตั้งใจศึกษาพระธรรมทั้งหลายให้เจนจบ
3. เราจะฉุดช่วยเวไนยสัตว์ทั้งหลายจนหมดสิ้น
4. เราจะบำเพ็ญตนให้บรรลุถึงอนตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

มูลเหตุ 3 ประการที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถบรรลุธรรม คือ
1. ไม่มีปณิธาน
2. ไม่มีความศรัทธาจริงใจ
3. ไม่มีรากบุญ

มีคำกล่าวว่า "ฝนไม่อาจคืนชีวิตให้แก่หญ้าที่ไร้ราก ธรรมไม่มีประโยชน์ต่อคนที่หลบหลีกธรรมะ"
ดังนั้นหากคนเราไม่มีรากบุญกุศลเลย ไม่มีความจริงใจศรัทธา ขาดความตั้งใจที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายสูงสุด ก็ยากที่จะทำอะไรได้สำเร็จ
คนที่ได้รับวิธีอนุตตรธรรม 3 ประเภท
1. คนที่ได้รับรู้วิถีอนุตตรธรรมแล้วตั้งใจบำเพ็ญอย่างขยันขันแข็ง
2. คนที่รับรู้วิถีอนุตตรธรรมแล้ว ขาดความจริงใจและเกียจคร้านในการบำเพ็ญ
3. คนที่ได้รับรู้ถึงวิถีอนุตตรธรรมแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องโง่เขลาและไม่น่าเชื่อ
ปณิธาน 10 ข้อสำหรับผู้ที่บำเพ็ญอนุตตรธรรม ได้แก่
1. จะมั่นคงในศรัทธา ปฏิบัติธรรมด้วยความจริงใจ
2. จะสำนึกผิดอย่างจริงใจ (ชาย), จะฝึกฝนบำเพ็ญด้วยใจจริง (หญิง)
3. ไม่เสแสร้งในการกระทำ
4. จะเดินหน้าไม่ถดถอย
5. ไม่หลอกลวงลบล้างบรรพจารย์
6. ไม่ลบหลู่ดูถูกนักธรรมอาวุโส
7. จะเทิดทูนรักษา ปฏิบัติตามพุทธระเบียบและธรรมวินัย
8. ไม่แพร่งพรายความลับสวรรค์
9. ไม่ปิดบังสัจจธรรมนี้ไว้ไม่ให้ปรากฏ
10. จะบำเพ็ญธรรมตามควรแก่กำลัง (ชาย), จะบำเพ็ญธรรมด้วยความจริงใจ (หญิง)

1. จะมั่นคงในศรัทธา ปฏิบัติธรรมด้วยความจริงใจ
- รู้ถึงคุณค่าของวิถีธรรมที่ได้รับ และยึดมั่นในสัจจธรรมด้วยความเคารพ
- ผู้ที่บำเพ็ญอนุตตรธรรม ควร "ตื่น" และ "ตรวจสอบ" ความก้าวหน้าและความบกพร่องของตนเสมอเหมือนกับการฝึกหัดรถจักรยานต้องค่อยๆ ประคับประคองให้แล่นไปได้โดยไม่เสียหลักล้มลง
- "ระหว่างสวรรค์กับนรกมีเพียงเส้นใยบางๆ กั้นอยู่เท่านั้น" ความหมายก็คือ เราจะต้องสำรวมระวังความนึกคิดของเราเอาไว้ให้ดี เพื่อไม่ให้จิตใจพลาดพลั้งตกอยู่ในอันตราย
- ยึดมั่นในสัจจธรรม หมายถึง เราต้องกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยมโนธรรมสำนึกที่ดีงาม ด้วยความรู้สึกผิดชอบ ไม่ให้ตนเองและผู้อื่นเป็นทุกข์
- การมีความจริงใจกับตัวเอง จะช่วยให้เราขจัดความมุ่งหวังและอยากในสิ่งที่ไม่ได้ การแสดงความรัก ความเมตตา เคารพนอบน้อมและเอาใจใส่ผู้อื่นอย่างจริงใจ ทำให้ "จิตญาณ" ของเราบริสุทธิ์ไปด้วย
- สิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระอริยเจ้าทั้งหลายในอดีตบำเพ็ญอนุตตรธรรมด้วยความไม่ประมาท ท่านจะระมัดระวังควบคุมจิตใจ เหมือนกับผู้ที่กำลังยืนอยู่ริมปากเหวลึก ไม่กล้าแม้จะกระพริบตา เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้ทำผิดต่อศีลธรรมจรรยา ผู้บำเพ็ญธรรมจะต้องตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท

2. จะสำนึกผิดอย่างจริงใจ (ชาย), จะฝึกฝนบำเพ็ญด้วยใจจริง (หญิง)
- ไม่มีคำว่า "สายเกินไป" สำหรับการแก้ไขสิ่งที่เราทำผิดพลาดและจงพร้อมที่จะเริ่มต้นทำแต่สิ่งที่ดีในชีวิตใหม่
- ความคิดและการกระทำของเราอยู่ในสายตาของเบื้องบนอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะหลอกลวงผู้อื่นได้ แต่ความจริงย่อมปรากฏเด่นชัดอยู่เบื้องบน ฉะนั้น เราต้องระมัดระวังสำรวมตนอยู่ทุกขณะทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง
- เป็นการดีอย่างยิ่งหากเราได้รับคำบอกกล่าวถึงความผิดพลาดของตัวเรา เพื่อจะได้ไม่ทำผิดซ้ำอีกฉะนั้นเราควรรู้สึกขอบคุณผู้ที่ตักเตือน ไม่ใช่ขุ่นเคืองเขา
- คนเราย่อมทำผิดได้เสมอ แต่ที่สำคัญเราควรมีความตั้งใจจริงจะแก้ไขความผิดพลาดนั้นเหตุนี้ผู้ร้ายจึง ได้รับการลดหย่อนโทษ เมื่อเขาเข้ามอบตัว เพราะนั่นแสดงว่าเขาสำนึกผิดและเสียใจในการกระทำของเขา
- ท่านขงจื้อได้กล่าวว่า "การทำผิดไม่ใช่ข้อสำคัญในความผิด" แต่ความผิดที่แท้จริงคือการไม่ตั้งใจแก้ไขข้อผิดพลาดของตน" การย้อนมองส่องตนและสำนึกได้ในความผิดของตนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการบำเพ็ญอนุตตรธรรม
- ในอดีต เป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้หญิงที่จะออกไปบำเพ็ญธรรม บัดนี้กาลเวลาผันแปรทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ทั้งชายและหญิงมีสิทธิ์ทัดเทียมกัน ฉะนั้นท่านสุภาพสตรีทั้งหลาย ควรรีบฉวยโอกาสอันหาได้ยากยิ่งนี้ พิสูจน์คุณค่าของตัวเองโดยการตั้งใจบำเพ็ญธรรม ปฏิบัติภาระกิจงานธรรมด้วยความจริงใจให้ทัดเทียมสุภาพบุรุษ

3. ไม่เสแสร้างในการกระทำ
- มีคำกล่าวว่า "การกระทำที่เสแสร้งของท่านอาจหลอกลวงโลกนี้ได้ แต่ไม่อาจหลอกลวงสวรรค์"
- สัจจธรรมคือความเที่ยงตรงที่พิสูจน์ความจริงในทุกๆ สิ่ง ดังนั้น การดำเนินชีวิตตามหลักสัจจธรมก็คือ ไม่ทำในสิ่งที่ขัดต่อมโนะรรมสำนึกของเรา
- เราต้องไม่เสแสร้างทำเพื่อหลอกลวงตนเองและผู้อื่น เช่น ยอมทำตามฝูงชนแต่ต้องขัดแย้งกับตัวเอง
- มีคำกล่าวว่า "ตาข่ายของเบื้องบนมีช่องที่กว้างใหญ่ แต่อะไรก็ไม่สามารถผ่านเข้าไปได้โม่ของเบื้องบนบดไปอย่างเชื่องช้าแต่จะบดให้ละเอียดเป็นผุยผง" ผู้บำเพ็ญจะต้องไม่คิดว่าทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นไร เพราะมันจะพอกพูนสะสมจนกลายเป็นทุกข์ยากลำบากขึ้นภายหน้า
- เราต้องมีความยินดีและเต็มใจในการปฏิบัติหน้าที่และภาระกิจของตน ความคิดเห็นที่สอดคล้องและจิตใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการกระทำ จะทำให้ภาระหน้าที่ของเราลุล่วงไปอย่างราบรื่น
- ความคิดเห็นและการกระทำเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่มีแบ่งแยก เป็นกุญแจสำคัญของการบรรลุธรรม

4. จะเดินหน้าไม่ถดถอย หมาย การไม่รีรอที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีกว่า
- เมื่อเรารู้ว่า "อนุตตรธรรม" นี้มีค่าล้ำเลิศ เราควรบากบั่นพากเพียรที่จะก้าวไป และไม่ว่าจะอยู่ในสถานะภาพใดๆ เราจะไม่ย่อท้อถดถอยในการบำเพ็ญ
- เราจะต้องมีศรัทธามั่นคงในสัจจธรรม ไม่หวั่นไหวโอนเอนไปกับอิทธิพลรอบข้าง
- เราต้องเข้าใจให้กระจ่างชัดว่า อุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้นในระหว่างการบำเพ็ญธรรมของเราก็เป็นเช่นเดียวกันกับ ความทุกข์ยากลำบากที่พระอริยะเจ้าและนักธรรมอาวุโสในอดีตต่างเคยได้ฝ่าฟันมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีใครสามารถอยู่ในโลกนี้ตลอดชีวิตโดยไม่ประสบปัญหาใดๆ เลย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องกล้าหาญ ที่จะยอมรับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคน
- ความทุกข์ยากลำบากที่เราต้องเผชิญ อาจได้รับการช่วยเหลือขจัดปัดเป่า โดยผู้อาวุโสหรือเพื่อนผู้บำเพ็ญธรรมก็ได้ และถึงแม้เป็นอุปสรรคที่ไม่มีใครช่วยได้นอกจากตัวเรา เมื่อนั้นเราควรเรียนรู้และพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหา และความล้มเหลวด้วยตัวเอง เพราะสิ่งเหล่านั้นจะเป็นประสบการณ์ ฝึกให้เราแข็งแกร่งและค่อยๆ สร้างความมั่นใจที่จะสู้ไปจนถึงที่สุด
- มีคำพูดว่า "ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้ต่อสู้จนสามารถผ่านพ้นอุปสรรคทั้งหลาย"

5. ไม่หลอกลวงลบล้างบรรพาจารย์
- การแสวงหาพระวิสุทธิอาจารย์เพื่อถ่ายทอดวิถีธรรมให้เรานั้นไม่ใช่ง่าย ผู้บำเพ็ญธรรมในอดีตต้องผ่านความยากลำบาก และฝึกฝนอย่างจริงจังกว่าที่จะได้รับรู้วิถีธรรม ฉะนั้นเราทุกคนจึงควรรักษาบุญสัมพันธ์ที่เรามีต่ออาจารย์ถ่ายทอดเบิกธรรม และผู้แนะนำรับรองเอาไว้ให้ดี
- พระบรรพจารย์ทั้งหลายผู้ซึ่งแผ้วถางเส้นทาง เพื่อให้ชนรุ่งหลังได้บำเพ็ญธรรมอย่างราบรื่นจนสามารถพ้นจากการเวียนว่ายตาย เกิดที่ไม่รู้จักจบสิ้น ดังนั้นจึงเป็นการถูกต้องชอบธรรมอย่างยิ่งที่เราทุกคนต้องสำนึกในพระคุณ และปฏิบัติภาระหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเพื่อตอบแทนพระคุณท่าน
- เราไม่ควรหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบและละเลยต่อภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เราจะต้องไม่แอบอ้างวิถีธรรมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว
- เราต้องพยายามเจริญรอยตามพระอาจารย์ของเรา ที่จะฉุดช่วยผู้อื่นให้พ้นจากทะเลทุกข์ ทำตามที่พระอาจารย์สอนจึงจะเรียกได้ว่า เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์
- เราต้องมีความซื่อสัตย์ ติดตามพระอาจารย์ยึดมั่นในสายทองให้มั่นไม่แปรผันเคารพนับถือตามลำดับอาวุโส ผู้อาวุโสทั้งหลายเป็นผู้นำเราในการบำเพ็ญอนุตตรธรรมเปรียบดังประภาคารที่ ส่องสว่างท่ามกลางมรสุมในทะเลเพื่อชี้ทางแก่นาวาทั้งหมด

6. ไม่ลบหลู่ถูกนักธรรมอาวุโส
- ในโลกนี้มีเรื่องมากมายที่เรายังไม่รู้ เราควรศึกษาเรียนรู้อยู่เสมอถืงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ จนรู้ว่าจะแยกแยะดี-ชั่วได้อย่างไร แม้เราจะรู้ดีว่าการทำตามมโนธรรมสำนึกที่ดีงามไม่ใช่เรื่องยาก แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ เราต้องการที่จะทำตามมโนธรรมของเราหรือไม่? นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลา
- คนที่หยิ่งยโส จงอหอง อวดดี ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของผู้คน เพราะเขาจะไม่ยอมรับฟังคำวิจารณ์ชี้แนะจากผู้ใด ทั้งๆ ที่มันจะช่วยให้เขาคิดได้ ผู้บำเพ็ญธรรมควรมีจิตใจอ่อนน้อมถ่อมตน ยินดีรับคำชี้แนะของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
- การเคารพผู้อาวุโสเป็นหน้าที่ของเรา ความอ่อนโยนของเราคือการเมตตาต่อผู้น้อย 2 ข้อนี้เป็นหลักที่ผู้บำเพ็ญธรรมต้องนำไปปฏิบัติ
ต่อผู้อาวุโส เราต้องถ่อมตนสำนึกในพระคุณที่ท่านได้เมตตาชี้ทางให้เราได้บำเพ็ญ
ต่อผู้น้อย เราต้องอ่อนโยนเมตตาเอาใจใส่ส่งเสริมให้ก้าวหน้าในการบำเพ็ญ

7. จะเทิดทูนปฏิบัติรักษาตามพุทธระเบียบและธรรมวินัย
การปฏิบัติตามพุทธระเบียบและธรรมวินัยในการบำเพ็ญอนุตตรธรรมมีความสำคัญยิ่งการบำเพ็ยที่ปราศจากระเบียบวินัย ก็เหมือนกับรถไฟที่แล่นออกจากราง มีแต่จะเป็นอันตราย

พุทธระเบียบและธรรมวินัยไม่ได้บังคับเรา แต่เป็นข้อชี้แนะว่าเราควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรนอกเหนือจากการกระทำแล้ว ความคิดของเราต้องมีระเบียบวินัยไปด้วย เพื่อไม่ให้ความคิดของเราออกนอกลู่นอกทาง ความคิดมีผลโดยตรงต่อการกระทำ เหมือนกับเมล็ดพันธุ์เมื่ออยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์พร้อมมันก็จะเจริญงอก งามออกเป็นต้นใหญ่

การปฏิบัติตามพุทธระเบียบและธรรมวินัยในสถานธรรม ช่วยให้เรารู้จักวางตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถปฏิบัติภาระกิจประสานงานกันได้อย่างราบรื่น ช่วยให้เราพัฒนาความเชื่อมั่นในคุณธรรม จริยธรรม การบังคับตนเอง และความสามารถในการับผิดชอบหน้าที่

ถ้าเราหวังจะบรรลุถึงนิพพานให้ได้ก็จะต้องบำเพ็ยธรรมอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามพุทธระเบียบและธรรมวินัย ที่เบื้องบนประทานถ่ายทอดไว้ให้แล้วจนถึงที่สุด

8. ไม่แพร่งพรายความลับของสวรรค์
ความลับของสวรรค์แม้แต่พระอริยะเจ้าและนักปราชญ์ทั้งหลาย ก็ไม่กล้าเปิดเผยแก่มหาชนฉะนั้นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจึงต้องรัษาไว้ให้ดี เพื่อจะได้ไม่ผิดต่ออาญาฟ้าดิน

เราต้องทะนุถนอมปกป้องและเคารพเทิดทูนอริยสมบัติอันยิ่งใหญ่ ที่สืบทอดลงมาจากพระพุทธะและอริยะทั้งหลาย

9. ไม่ปิดบังสัจจธรรมนี้ไว้ มิให้ปรากฎ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า วิถีอนุตตรธรรมแผ่ลงเพื่อฉุดช่วยสาธุชนให้พ้นจากมหันตภัยและกำราบทุรชน เพราะฉะนั้นเราจึงควรระลึกอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องเผยแพร่สัจจธรรม เพื่อประโยชน์สุขของเวยไนยสัตว์ทั้งหลาย ที่กำลังรอคอยฟังข่าวอันประเสริฐนี้

หากเรารู้แจ้งถึง "ทุกข์" และมีศรัทธามั่นคงว่า "วิถีอนุตตรธรรม" เป็นหนทางแห่งการดับทุกข์ทั้งปวง แม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถอธิบายให้ผู้คนทั้งหลายรู้ถึงคุณค่าลึกซึ้งของ "อนุตตรธรรม" แต่การกระทำของเราสามารถพิสูจน์ความซื่อสัตย์จริงใจ ที่เรามีต่อทุกชีวิตบนโลก

ประการสำคัญที่สุดคือ เราต้องเริ่มต้นบำเพ็ญให้ตัวเองเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน แล้วจึงแนะนำชักชวนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม

10. จะบำเพ็ญธรรมตามควรแก่กำลัง (ชาย), จะบำเพ็ญธรรมด้วยความจริงใจ (หญิง)
การบำเพ็ญอนุตตรธรรม ไม่มีแบ่งแยกว่าร่ำรวยหรือยากจน สูงศักดิ์หรือต่ำต้อย สิ่งสำคัญ คือ ความพยายามจนสุดกำลังความสามารถของแต่ละคน

คนที่ถูกกิเลสตัณหา ความโลภ ความหลงเข้าครอบงำ เขาให้เวลาในชีวิตทั้งชีวิตมุ่งแต่แสวงหาความั่งมี อำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศ สร้างสมความชั่ว จึงเป็นผู้ที่ใช้พละกำลังความสามารถที่ตนมีไปในทางที่ผิด เพราะสิ่งที่เขาดิ้นรนไขว่าคว้าหามาได้ทั้งหมด จะอยู่กับเขาเพียงชั่วคราวไม่ยั่งยืน เมื่อความตายมาถึงเขาก็ไม่สามารถเอาอะไรติดตัวไปได้เลย แม้แต่ชิ้นเดียว

ทุกคนที่ตายจากโลกนี้จะพกพาเอาแต่ความดี-ความชั่วที่ได้กระทำไว้ในระหว่างมี ชีวิตอยู่ไปด้วย การเกิดใหม่ของแต่ละคนขึ้นอยู่กับ "กรรมของเขา" เท่านั้น หากเราเข้าใจในหลักสัจจธรรมนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพละกำลังความสามารถที่มีอยู่ในตัวเราทั้งหมดพากเพียรบำเพ็ญ ธรรม เพื่อกลับคืนสู่แดนนิพพานให้จงได้

ทุกครั้งที่มีโอกาสเราควรจะกระทำดังนี้ :

1. ให้วิทยาธรรมเป็นทาน คือ ให้ความรู้แก่ผู้คนเพื่อให้เขาเข้าใจใน "สัจจธรรม" ของชีวิต
2. ให้ทรัพย์เป็นทาน คือ บริจาคทรัพย์สินเงินทอง วัตถุสิ่งของเพื่อช่วยเหลืองานธรรมและผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก
3. ให้แรงกายเป็นทาน คือ ให้ความช่วยเหลือโดยอาศัยพละกำลังความสามารถความถนัดของตนเพื่อความก้าวหน้าและประโยชน์สุขของสาธารณะชน

ไม่ว่าเราจะให้ได้มากน้อยแค่ไหน ความจริงใจเท่านั้นที่สำคัญ ดังนั้นเราจึงไม่ควรปล่อยโอกาสดีๆ นี้ให้ผ่านไปหากเวลานี้ไม่ทำวันข้างหน้าเมื่อหมดโอกาสแล้วจะร้องไห้คร่ำครวญ ก็ไม่เกิดประโยชน์ อย่าให้เราเป็นคนเดียวที่กว่าจะรู้ว่า "อนุตตรธรรม" นี้ล้ำค่าเพียงใดก็เมื่อตอนใกล้จะตาย อยากย้อนกลับไปบำเพ็ญใหม่ก็หมดเวลาเสียแล้ว

สรุป
เมื่อได้รู้ถึงคุณค่าของอนุตตรธรรมแล้ว เราควรรีบเร่งบำเพ็ญอย่างสุดกำลัง คงยังจำกันได้ถึงวันที่เราได้รับวิถีธรรม อาจารย์ผู้ถ่ายทอดเบิกธรรมได้บอกกับเราว่า "หากเราไม่สามารถบรรลุปณิธานทั้ง 10 ข้อนี้ยากที่จะกลับคืนสู่นิพพานได้" ฉะนั้นเราจึงต้องพากเพียรไปจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เราต้องเริ่มตั้งใจทำงานให้หนัก เพื่อร่วมจรรโลงพระปณิธานขององค์พระศรีอาริยเมตไตรยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่จะบันดาลโลกนี้ให้เป็นแดนสวรรค์ต่อไปภายหน้า

No comments:

Post a Comment