การย้อนมองส่องตน คือ หนทางแก้กรรมอย่างหนึ่งที่เป็นวิถีพระอริยะเจ้าโดยแท้
ถาม ว่า ในสมัยก่อน พระอริยะเจ้าแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นไหม ได้ไปวัดวาแล้วทำพิธีสะเดาะเคราะห์แบบพวกเราสมัยนี้ไหม ไม่มี พระพุทธะต่างแก้กรรมด้วย "จิต" ด้วยการสำนึก ขอบคุณ ขอขมากรรมและแก้ไขตนเอง นี้คือ การให้กรรมเก่ากลายเป็นโมฆะที่แท้จริง
พระ พุทธเจ้าเมตตาสอนอะไรพวกเรา ก็คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน กรรมที่ท่านก่อที่เกิดจากความไม่เที่ยงตรงของ กาย วาจา ใจ และความประพฤติ เพราะกรรมเกิดจาก จิต ท่านก็ต้องแก้ที่จิตท่าน เช่น หากผู้อื่นทำร้ายเรา เราจะแก้ไขที่ใคร ก็ต้องแก้ไขที่ตัวเราเสียก่อน จริงไหม
แต่คนส่วนใหญ่ มักแก้ไขที่ใคร (ที่ผู้อื่น) แต่ไม่รู้จักแก้ไขตนเอง เพราะเราหลงคิดว่า เราถูกเสมอ ไม่เคยทำผิด ความผิดตนเองมองไม่เห็น แต่ความผิดที่คนอื่น เรากลับมองเห็นทุกวัน แบบนี้เราจะเข้าใจถึง จิตเดิมแท้ ในตนเองหรือไม่ เพราะฉะนั้นพวกเราจึงมีผิดบาปซ้ำๆซากๆกันต่อไป ไม่รู้กี่ภพชาติ จริงไหม
-----------------------------------------------------------------------------------
บทสำรวจตนเอง ร่วมศึกษาโดย สุชิน เจี่ยงซือ
11 พ.ค. 46 ไท่จง
ด้วย พระมหากรุณาธิคุณเบื้องบน พระคุณพระบรรพจารย์ ด้วยบารมีธรรมของ ท่านธรรมอธิการ ท่านรองธรรมอธิการ ด้วยเมตตาธรรมของอาจารย์ถ่ายทอดเบิกธรรม นักธรรมอาวุโสทั้งหลาย ช่วยส่งเสริม ชี้แนะ ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรให้ความเชื่อถือ ครอบครัวให้การส่งเสริม ผู้น้อยจึงได้มีโอกาสมาผูกบุญกับอาวุโสทุกท่านที่ไท่จง จริง ๆ ไท่จงก็มาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการมาในชั้นเรียนของไท่จงจริง ๆ ที่ผ่านมาจะเป็นการมาร่วมศึกษาในหัวข้อ ของชั้นเรียนของเขต เพราะฉะนั้นครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรก ผู้น้อยก็ตื่นเต้นนิด ๆ หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่ใหม่ และมีความลึกซึ้งในการศึกษา หัวข้อนี้ชื่อ “บทสำรวจตนเอง”
คำว่า บท คือ อะไร บท มาจากคำว่า บาท บาท แปลว่า หนทาง สำรวจ คือ อะไร เป็นการวิเคราะห์เจาะลึก ตรวจสอบ หาความเป็นจริง คำว่า ตน คือ พุทธจิตธรรมญาณ ตนไม่ใช่ตัวเรา เพราะตัวเราอยู่ในกฎไตรลักษณะ ที่พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่า เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ตนนั้น คือ ตนไหน ตนตัวนี้ คือ พุทธจิตธรรมญาณ เอง คือ หนทางในการสำรวจจิตของตัวเราเอง บทนี้เป็นเรื่องของการมาพิจารณาจิตของตัวเราเองว่า เป็นอย่างไร ไม่ใช่ให้คนอื่นเขามาดูเรา ไม่ใช่ให้คนอื่นมาเป็นหมอดู ทำนายว่าเราเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ นี่เป็นหนทางที่จะมาสำรวจตัวเราเอง ว่าเรานั้นเป็นอย่างไร เพราะว่าการที่เรานั้นได้เข้าสู่กระแสธรรม รับธรรมะแล้ว สามารถแปรเปลี่ยนโชคชะตา แปรเปลี่ยนชีวิต ให้พ้นเวียนว่ายตายเกิดได้ ทำอย่างไรล่ะ จึงจะสามารถพ้นการเวียนว่ายตายเกิดได้ ก็ต้องมีการสร้างบุญ สร้างกุศล
การจะสร้างบุญ สร้างกุศล วิธีไหนจะสร้างบุญได้ดีที่สุด พระพุทธองค์ สอนว่า เรามาเวียนว่ายตายเกิด ประกอบด้วยอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง และอารมณ์เหล่านี้มีจุดกำเนิดอยู่ที่ไหน ที่ผ่านมาเราใช้วิธีเก็บกวาดใบไม้ ก็คือผลเกิดจากอารมณ์เหล่านั้น แล้วเราก็มาคุมมัน ขจัดมัน ข่มมันไว้ สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป ใบไม้ก็ยังร่วงอยู่ แล้วเราทำอย่างไร เราจะต้องมาเก็บกวาดใบไม้ทุก ๆ วัน เพราะเดี๋ยว ๆ ก็เหี่ยวลงมาแล้ว ทุก ๆ วันอารมณ์ของเราไม่นิ่งในแต่ละวัน สุดท้ายเหมือนกับใบไม้ที่ร่วง ร่วงทุกวัน ๆ เก็บไหวไหม เก็บไม่ไหว แล้วเราจะทำอย่างไรดี เราจึงจะไม่ต้องไปเก็บมันอีก (ขจัดอารมณ์) ขจัดอารมณ์ เราจะขจัดอย่างไร ไปศึกษาธรรมะว่า วิธีการที่จะต้องไปริดกิ่งใบ ต้องนำกรรไกรมาตัด มาแต่งเล็มมัน หรือ ต้องเอาจอบ เอาเสียมมาขุด พรวนดินหรือเปล่า หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่เราต้องคิด เราจะพิจารณาตัวเราเอง ถ้าหากว่าเราไม่คิด ฟังเฉย ๆ จะไม่เกิดประโยชน์ ที่ผู้น้อยต้องถาม เพราะอะไร เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดขึ้นมา เพราะจริง ๆ สิ่งเหล่านี้ เราได้รับการเปิดจุดแล้ว เรารู้ แต่เราไม่เคยนำมาใช้ เหมือนที่เขาบอกว่า มีจานอยู่ตรงหน้า ช้อนก็อยู่ แต่เราไม่หยิบช้อนออกมา เราจะกินข้าวได้ไหม ตอนนี้กำลังบอกว่า เอาช้อนที่มีออกมากิน ก็กินข้าวอิ่มได้ มีข้าวอยู่ตรงหน้า แต่ไม่มีช้อน จะเอามือมากินก็น่าเกลียด ผิดมารยาท ตอนนี้เขามีเครื่องมือให้เรากินแล้ว เรามีปัญญาญาณแล้ว เราใช้ปัญญาของเราแล้วหรือยัง แล้วเราจะใช้มันอย่างไร มีดต้องมือขวา ซ่อมต้องมือซ้าย หรืออย่างไร เขามีวิธีการใช้ที่ถูกต้องอยู่ อันนี้ก็เหมือนกัน เรามีปัญญาแล้ว ต้องรู้จักใช้ปัญญา เพราะบทนี้เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา ในการพิจารณา สำรวจอารมณ์ของตัวเราเอง
สำรวจ คือ เจาะลึกเข้าไปถึงจุดใจกลางของมัน ไปถึงแก่นของมัน เจาะลึกไปที่ไหน ไปที่ตน คือ พุทธจิตธรรมญาณ คือหนทางที่เราจะวิเคราะห์เจาะลึกไปที่จิตของเรา เรามีโอกาสรับธรรมะ ได้รับการถอนชื่อจากบัญชีพระยายมแล้ว เราประชุมธรรมะ 2 วัน เราได้ลดหนี้กรรม 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว เหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์ ทำอย่างไรจึงจะหมด ต้องสร้างบุญ สร้างกุศล เราเรียนชั้นซินหมินปันแล้ว หลักสูตรสอนให้เรามีความศรัทธาเชื่อมั่นในธรรมะ ว่าธรรมะที่เราได้รับนี้ เรากลับคืนได้จริง ให้เรารู้จักที่จะใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างผาสุก มีหัวข้อวิธีการสร้างความผาสุกให้กับชีวิต มีหัวข้อมากมายให้เราไปทำ แต่ปัจจุบันนี้เรามีความสุขกันไหม เพราะความสุขจริง ๆ คือ ความว่าง ตราบใดที่ยังไม่ว่างก็ยังไม่สุข แล้วอารมณ์ของเรามีความว่างหรือยัง ก็ยัง ยังมีความชอบ มีความรัก มีความโกรธ มีความหลงอยู่ เราจึงต้องมาขจัดอารมณ์เหล่านี้ออก แต่เราจะไปขจัดมันได้อย่างไร เมื่อกี้ก็เปรียบให้ฟังเรื่องต้นไม้ ก็ต้องไปขุดราก ทุกสิ่งทุกอย่างมีใจเป็นประธาน มีใจเป็นหัวหน้า ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ พระพุทธองค์กล่าวไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่คือต้นกำเนิด ต้นรากของสิ่งต่าง ๆ อารมณ์ต่าง ๆ คือ ใจนั่นเอง
ใน หลักของทางวิทยาศาสตร์ บอกว่า จุดต้นกำเนิดของวิญญาณ เป็นที่รวบรวมข้อมูลสั่งสมมาจากอดีตของเรา ไม่รู้ว่ากี่ชาติต่อกี่ชาติ อยู่ตรงจุดนี้ ในหนังสือคัมภีร์ทฤษฎีจักระ เขาว่าอย่างนั้น จุดต้นกำเนิดเป็นตัวควบคุมการปฏิบัติต่าง ๆ ออกไป เพราะเป็นข้อมูลที่สะสมเอาไว้ ก็จะพอก ๆ ขึ้นมา หนาไปเรื่อย ๆ แล้วจะทำอย่างไร สิ่งที่พอก ๆ นี้จะออกไป เราก็ต้องไปนำมันออก ถ้าเป็นดินใจกลางโลกก็ต้องขุดลงไป นี่ก็คือมาขุดเจาะลึกลงไปข้างล่าง ไปรู้ความพิเศษข้างล่าง ที่เราไม่รู้ อันนี้ก็เหมือนกัน ประตูขุมทรัพย์เราเปิดแล้ว แต่เรามีใครสักคนเดินเข้าไปในประตูขุมทรัพย์หรือยัง
พระอาจารย์ บอกว่า เรารับธรรมะกันแล้ว ประตูขุมทรัพย์เปิดแล้ว แต่มีใครสักกี่คน ที่กลายเป็นคนรวยแล้ว เห็นยังจนกันอยู่ ใช่ไม่ใช่ ยังอยากได้พร อยากได้ลาภ ต้องพิจารณา พระอาจารย์ บอกว่า ขุมทรัพย์ก็เปิดให้แล้ว ทำไมเจ้าไม่เข้าไปเอา พระอาจารย์ไขกุญแจทองให้แล้ว ขุมทรัพย์เปิดแล้ว ทรัพย์ที่ประเสริฐที่สุด คือ จิตญาณ คือ ปัญญาญาณตัวนี้ แต่เราได้ใช้มันแล้วหรือยัง
เราศึกษาหัวข้อกันมาหลายหัวข้อ เราบอกว่าเราเข้าใจ แล้วความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ตัวเราแล้วหรือยัง ทำไมจึงไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะมันยังอยู่ในหีบ เราไม่เคยหยิบมันมาใช้ เพียงแต่รู้ว่าในหีบนี้นะ มีเสื้อผ้า ทองคำ มีกระจกทอง มีไข่มุก เต็มไปหมด ถ้าเราไม่หยิบขึ้นมาตกแต่ง ตัวเราจะสวยงามขึ้นมาได้ไหม ตัวเราจะสว่างขึ้นมาได้ไหม (ไม่ได้) เราก็รู้นะ แล้วทำไมเราไม่ใช้กัน พระอาจารย์บอกว่า รับธรรมะเยอะ แต่คนสำเร็จธรรมน้อย คนศึกษาธรรมมาก เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่สำเร็จกลับคืนไปได้ คนศึกษาธรรมะมีมากจริง ๆ คนปฏิบัติงานธรรมะก็มีเยอะ เราจัดงานทีหนึ่งเป็นพัน ๆ คน แต่สำเร็จกลับไปมีกี่คน นับไม่ถ้วน เพราะนับเท่าไหร่ก็ไม่ถ้วนเสียที นับย้อนไป นับย้อนมา นับไปเรื่อย ๆ ก็เลยไม่ถ้วนสักที เพราะฉะนั้น เราจึงต้องรู้ เรามีปัญญาแล้ว เราต้องรู้จักใช้ปัญญา เราจะใช้ปัญญานั้นอย่างไร เราจึงต้องมาศึกษาบทนี้ บทสำรวจตนเอง
ทำไม องค์คุลีมาล จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ (กลับตัวกลับใจ) ทำไมจึงกลับตัวกลับใจได้ พระพุทธองค์ ตรัสว่า เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด องค์คุลีมาลเกิดปัญญาญาณขึ้นมาทันทีว่า ที่กำลังทำอยู่นี้ เป็นการก่อให้เกิดอารมณ์ที่ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ หลังจากที่หยุดตรงนั้นได้ เกิดปัญญาขึ้นมาว่าต้องหยุดอารมณ์ ที่จะไปก้าวตามสิ่งต่าง ๆ ออกไป พระองค์ถ่ายทอดธรรมะให้ จึงใช้ปัญญาญาณตรงนั้นมาสำรวจตนเอง มาพิจารณาความผิดของตนเอง
การที่เราสำรวจตัวเอง สำรวจเรื่องอะไร
1. สำนึกพระคุณ (กั่นเอิน) เวลาเรามองตนเอง เรามองที่ตรงไหน สำนึกพระคุณ รู้ในพระคุณที่ได้รับ สำนึกไม่พอ ต้องรู้ด้วย สำนึกด้วย และยังต้องตอบแทนพระคุณ (เต้าเอิน) ในคำขวัญของฟาอีฉงเต๋อ ที่ท่านเฉียนเหยินเมตตาประทานให้ ตรงนี้อยู่ตอนท้าย ให้เราอ่านทุกวัน รู้พระคุณ สำนึกพระคุณ ตอบแทนพระคุณ และตอนที่เรากราบไหว้พระเช้าเย็น จะมีบทสำนึกขอขมา นี่คือ หนทางที่เข้าสู่การสำรวจตัวเองทั้งนั้น ตื่นเช้ามาวันนี้ เราตื่นขึ้นมาตอนเช้า เราคิดอะไร ลืมตาเสร็จแล้วก็อาบน้ำ แสดงว่า เรายังขาดการสำรวจ ใช่ไม่ใช่ โอ ! วันนี้ตื่นขึ้นมาตอนเช้า เป็นโชคดีเหลือเกิน วันนี้ฟ้าเบื้องบนเมตตา เรายังหายใจได้อยู่ ถ้าไม่หายใจเราก็ตายแล้วไม่ตื่นแล้ว เราสำรวจตั้งแต่ก้าวแรกที่ตื่นตอนเช้าเลย ว่าวันนี้เรามีโอกาสได้เจริญปณิธานอีกแล้ว ฟ้าเบื้องบนเมตตาให้โอกาสกับเรา นี่คือ สำนึกพระคุณ เรามีปณิธานจะทำความดีอะไร พิจารณา วันนี้เราจะสร้างคุณงามความดีอะไร วันนี้พอตื่นขึ้นมา ขอบคุณฟ้าเบื้องบน ที่ให้โอกาสเราได้เจริญปณิธาน วันนี้ปณิธานที่เราตั้งไว้ 10 ข้อ หรือ ตั้งเพิ่มอีก 2 ข้อ ในวันประชุมธรรม ข้อที่ 1 คือ เห็นงานธรรมสำคัญกว่างานทางโลก 2. ทรัพย์เป็นทาน วิทยาธรรมเป็นทาน แรงกายเป็นทาน ปณิธาน 2 ข้อนี้ เราทำหรือยัง พอเราตื่นขึ้นมา ต้องนึกแล้วว่า โอ ! วันนี้เราจะไปเจริญปณิธาน 2 ข้อนี้ที่ไหน อย่างไรดี วันนี้เราไปทำงาน เราจะนำธรรมะไปใช้ในชีวิตการทำงานอย่างไร คนรอบข้างช่วยเราทำงานสำเร็จ มีผู้บังคับบัญชา เราจึงทำงานได้สำเร็จ มีผู้ใต้บังคับบัญชา งานเราจึงสำเร็จด้วยความรวดเร็ว เราได้ตอบแทนคุณของเขาแล้วหรือยัง สำนึกคุณของเขาแล้วหรือยัง สำนึกไหม โดยมากเรามักจะบอกว่า คนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี อย่างนี้ไม่เรียกว่าสำนึก ใช่ไม่ใช่ แถมว่าเขาอีกต่างหาก อย่างนี้จะเรียกว่า เป็นการสำรวจตนได้อย่างไร มีแต่การนำขยะลงไปทับจิตเรื่อย ๆ แล้วจะเข้าสู่จุดศูนย์กลางของจิตได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น การสำรวจตัวเอง คือ การไปขุดมันออกมา สิ่งที่ปิดบังจิตเราอยู่ เอาจิตของเราที่สว่างออกมาให้ได้ ใช้วิธีสำนึก จึงนำตะกอนที่ทับถมจิตของเราออกไปได้ สำนึกพระคุณ วันนี้ฟ้าเบื้องบนเมตตา เรายังมีชีวิตอยู่ แล้วหลังจากนั้น เราอาบน้ำ ยังมีน้ำให้เราใช้ แล้วน้ำนี้มาจากไหน มาเองไหม ต้องสำนึกอีกแล้ว โอ ! นี่นะ มีการประปานครหลวงนะ เราจึงมีโอกาสได้ใช้น้ำประปา ถ้าไม่มีการประปานครหลวง เราจะมีน้ำใช้ไหม สบาย เปิดก๊อกมาก็ใช้ได้ มีใครยังไม่ได้จ่าย ถ้าเราไม่จ่าย ผิดทันที ผิดจริยธรรม เราดูพวกนี้เป็นเหมือนกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย แต่พูดจริง ๆ แล้ว สิ่งที่เล็ก ๆ ถ้าเราสะสมไปเรื่อย ๆ จะเป็นบาปกรรมที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตเราไม่ต้องไปดูไกล ดูตั้งแต่ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เราลืมตาขึ้นมา เราอยู่กันกี่คน ทำอาหารกี่อย่าง หรือเราไปซื้อกิน เรากินทิ้งกินขว้างหรือเปล่า พวกนี้ต้องคิดอีก ถ้าเรากินทิ้งกินขว้าง เรียกว่า เราสำนึกคุณไหม กว่าข้าวจะออกเม็ด จะออกรวงมานี้ใช้เวลาเท่าไหร่ ชาวนาเขาลำบากเท่าไหร่ สำนึกคุณหรือเปล่า ถ้าเราอยู่คนเดียว เราทำอะไรได้บ้าง
เพราะฉะนั้น การสำรวจตัวเอง ก็คือตรงนี้ คือ สำนึกพระคุณของสิ่งรอบตัว สำนึกของตัวเราเอง สำนึกพระคุณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ให้เรามีโอกาสมาเจริญปณิธานอย่างนี้ได้ ถ้าเรามีจิตสำนึกคุณตรงนี้ ถามว่า ชีวิตของเราเป็นอย่างไร จะไปทะเลาะกับใครไหม ไม่เลย มีแต่ขอบคุณอย่างเดียว ชีวิตนี้จะมีแต่คำขอบคุณ โอ !ขอบคุณมากเลย ตรงนี้เราบกพร่องอยู่ มาช่วยชี้แนะ เขาตำหนิเรามา เราต้องขอบคุณ เขาอุตสาห์ก่อกรรม การตำหนิคนอื่น ต้องแบกรับกรรม เขาอุตส่าห์ยอมแบกรับกรรมตรงส่วนนี้ เพื่อให้เราเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่ดีขึ้น เราต้องขอบคุณ แต่โดยมากเป็นอย่างไร ว่าฉันมาก เรื่องอะไรของเธอ เพราฉะนั้น เรารับธรรมะ จึงต้องใช้ธรรมะที่เราได้รับให้เกิดประโยชน์ ธรรมะมีอยู่ไม่เยอะ ตอนไหว้พระเช้าเย็นในแต่ละครั้ง จะมีบทให้เราสำนึกขอขมา แล้วขอขมาตรงไหน ก็ขอขมาที่จิต แล้วเราขอขมาเรื่องอะไร เป็นหนังสือที่อาจารย์ฟัง จี๋เจ้า เตี่ยนฉวนซือ แปลไว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านเมตตาเอาไว้
องค์อำนวย การสอบสามโลก บอกว่า ต้องขอขมาที่ไม่เคารพฟ้าดิน หยิ่งผยองลำพองตน เราคิดว่าวันนี้ที่เราสำเร็จอยู่ได้ นี่เพราะตัวเราเองคนเดียว ไม่มีใคร มาเป็นผู้ช่วยเรา ใช่เช่นนั้นไหม เสื้อผ้าตัวนี้เราเย็บเองหรือเปล่า หนังสือนี้เราทำเองหรือเปล่า มาจากไหน เอาผ้าจากไหน และผ้าที่เขาไปถักทอมาจากไหน เราไม่ได้ทำเอง เราไม่ได้เก่ง ทุกอย่างอาศัยคนอื่นทั้งหมดเลย แม้แต่อากาศหายใจ ยังต้องอาศัยฟ้าดิน ถ้าไม่มีฟ้า ไม่มีดิน มีอากาศให้เราหายใจไหม ไปอยู่ในจักรวาลเป็นอย่างไร ไม่มีอากาศหายใจ เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง มีแต่เราไปพึ่งเขาหมด กายที่เราอยู่รอด เพราะอาศัยไปพึ่งคนอื่นเขา ไม่ใช่เพราะเราเก่ง ไม่ใช่เรามีความสามารถ เหมือนผู้น้อยมายืนตรงนี้ได้ ไม่ใช่ผู้น้อยมีความสามารถ แต่เบื้องบนเมตตา อย่างที่บอกตั้งแต่แรก เรามีครอบครัว ถ้าครอบครัวไม่ยินยอมให้เราออกมา เราออกมาได้ไหม เราต้องสำนึกทั้งนั้นเลย
ขอขมาที่ไม่กราบกรานพระอริย พระพุทธา ไหว้บูชาอย่างขอไปที ถ้าเราไม่มีจิตศรัทธาในการไหว้พระพุทธะ เราคิดว่า พระพุทธะจะคุ้มครองเราไหม ไม่คุ้มครอง แล้วเราเรียกร้องให้พระพุทธะคุ้มครองไหม เรียก แล้วทำไมเราไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ต้องพิจารณาดู เวลาเรากราบไหว้พระ เรากราบถูกต้องไหม พุทธระเบียบ จั๊วอี๋ ทำอย่างไร เวลากราบ กราบอย่างไร ก้มต่ำหรือเปล่า คางจรดอกหรือเปล่า ไหล่ต่ำกว่าเอวหรือเปล่า พวกนี้ต้องพิจารณาหมดเลย เราสำรวจการวางกายของตัวเอง เวลาเทียบตนเอง ต้องเทียบกับกรอบ กรอบ หรือ ศีลของเราในการบำเพ็ญยุคขาว คือ อะไร ศีลของผู้บำเพ็ญยุคขาว คือ สามชัดเจน (งานธรรมงานโลกชัดเจน เงินทองชัดเจน หญิงชายชัดเจน) และ สี่เที่ยงตรง (กายเที่ยงตรง วาจาเที่ยงตรง ใจเที่ยงตรง ความประพฤติเที่ยงตรง) แล้วเราคิดว่า เราเที่ยงไหม แม้แต่เราไหว้พระ เรายังไม่เที่ยงเลย เรากราบพระ เรากราบถูกไหม ที่ร่วมศึกษานี้ จะไม่พูดเรื่องไกลตัว เราทำอยู่ทุก ๆ วัน แค่เราทำตรงนี้ถูกต้อง ทุกอย่างจะดีขึ้นมาเอง การสำรวจตน สำรวจตรงนี้ สำรวจที่ตัวของเราเอง สำรวจใกล้ ๆ ตัว อย่าไปมองออกไปไกล
พระพุทธองค์ สอนให้เราพิจารณาธรรมะในตัวเราเอง ไม่ใช่ให้พิจารณาธรรมะของผู้อื่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บอกว่า ให้เรานั้นเจริญปณิธานของตัวเอง ไม่ได้บอกให้เราไปเจริญปณิธานของผู้อื่น ให้เราปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง เราเป็นพุทธบริกร มีหน้าที่อะไร ก็ทำหน้าที่ตัวเอง ไม่ได้ให้เราไปทำหน้าที่ของคนอื่น เราบำเพ็ญก็บำเพ็ญที่ตัวเองเหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน สำรวจตนเอง สิ่งที่พูดมาทั้งหมด คือตนเองทั้งหมด ไม่เกี่ยวกับคนอื่น เราต้องเข้าใจ แต่การที่เราปฏิบัติตนเอง แล้วเกิดการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อื่น อย่างนี้คือผลพลอยได้ เพราะเราบำเพ็ญธรรม เราบำเพ็ญเพื่อกลับคืนแดนนิพพาน ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ตัวเราที่จะหลุดพ้น ถ้าเรามัวไปทำคนอื่น เราจะหลุดพ้นได้ไหม เพราะฉะนั้น จึงต้องบำเพ็ญที่ตัวเอง ปฏิบัติที่ตัวเอง หลังจากนั้นตัวเองหลุดพ้นแล้ว คนอื่นหลุดพ้นด้วย เพราะผลที่เรากระทำออกไปมีผล กระทบต่อคนข้าง ๆ ถ้าเรามีมิตรจิต ข้าง ๆ ก็จะมีมิตรใจกับเรา เรายิ้มให้ เขาจะโกรธเราไหม พอยิ้มให้ บอกว่า มีเจตนาที่ดี นี่คือ การสร้างไมตรี เรามาอยู่ในโลกนี้ อยู่ด้วยกันแบบพี่น้อง จึงต้องหัดหมั่นยิ้ม เราเข้ามาสู่อาณาจักรธรรม มาก้าวแรก อาวุโสยิ้ม ถามว่ายิ้ม ยิ้มที่ใคร เรายิ้มหรือเขายิ้ม เราต้องยิ้มไว้ก่อน คนอื่นเขาจะยิ้มหรือไม่ยิ้ม เรื่องของเขา แต่เราต้องยิ้มไว้ก่อน เราเป็นผู้บำเพ็ญ เรายิ้มขึ้นมาราศีบนใบหน้าจะสว่างออกมา สังเกตไหมว่าคนที่ไม่สวย พอยิ้มขึ้นมาก็สวยได้ คนที่สวยอยู่แล้ว พอยิ้มอีก ก็ยิ่งสวย ยิ้มสยามที่ดังเพราะอะไร พอยิ้มแล้วหน้าตาอิ่มไปหมด ราศีแผ่อออกมา ธรรมะแผ่ออกมา มีความน่าดู เราต้องมาฟื้นจริยธรรมอันดีงามของเมืองไทยเรา เรื่องการยิ้มสยาม ยิ้มด้วยไมตรีจิต เดี๋ยวนี้เรายิ้มด้วยการเสแสร้งกันมาก ยิ้มก็คือยิ้ม ไม่ใช่ต้องกว้าง 45 องศา อย่างนี้ไม่ใช่ เราสำรวจตัวเราเอง สิ่งที่เรากระทำนั้น เราแกล้งทำหรือเปล่า สิ่งนี้เราทำด้วยความจริงใจหรือเปล่า ธรรมะเป็นสิ่งธรรมดา ๆ สิ่งที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่เสแสร้งแกล้งทำ
เพราะฉะนั้น เวลาเราสำรวจตัวเอง สำรวจง่าย ๆ กำลังกระทำอยู่นี้ มีความจริงใจที่กระทำไหม มีความตั้งใจจะกระทำไหม ถ้าเรามีความตั้งใจที่กระทำ เราจะเบื่อไหม เราจะเหนื่อยไหม เราจะขี้เกียจไหม แล้วทำไมตอนนี้เรายังขี้เกียจอยู่ วันนี้เราจะมาสำรวจตัวเราเอง เราต้องดูใจเรายังมีอยู่ ผู้น้อยก็มีเป็นบางครั้ง บางครั้งก็ขี้เกียจไป แต่โดยมากจะไม่ขี้เกียจ เพราะถ้าขี้เกียจจะเดินไม่ได้ เพราะเส้นตึงมาก ปกติหมดนวดจะบอกว่า อย่างนี้เดินได้อย่างไร ถ้าเราไม่ทำงานธรรมะ เดินไม่ได้แล้ว เพราะเราทำงานธรรมะ ธรรมะจึงคุ้มครอง เราแก้ไขตัวเราเอง สิ่งเลวร้ายจึงถูกขับออกไป ถ้าหากชีวิตเรายังเจอกับสิ่งเลวร้าย ต้องมาพิจารณาตัวเองว่า กายเราตรงไหม วาจาเราตรงไหม ใจเราตรงไหม ความประพฤติเราตรงไหม แล้วตรงกับอะไร ตรงฟ้าดิน อย่างไรเรียกว่า ตรงฟ้าดิน เพราะคำว่าฟ้าดินกว้าง มองแล้วไม่เห็นรูป ทำอย่างไรจึงจะบอกได้ว่า อย่างนี้คือการทำที่ตรงฟ้าดิน เวลาเราเรียนธรรมะ เราไม่ใช่เรียนแบบจำ แบบนกแก้ว นกขุนทอง อย่างนี้จะไม่เกิดประโยชน์
พระอาจารย์ เมตตาบอกว่า ที่เราสำเร็จธรรมกันยากเพราะอะไร เราไม่เข้าใจธรรม เมื่อไม่เข้าใจ เราก็ปล่อยไว้อย่างนั้น เราไม่มาทำความกระจ่างในธรรมะให้เกิดขึ้น ท่านอาจารย์หวง (เต๋ออี้) เตี่ยนฉวนซือ ท่านเคยเมตตาบอกว่า คนเรามีอยู่สี่รู้ ครั้งหนึ่งผู้น้อยเคยเป็นเชาฉือ ชั้นเผยเต๋อปัน ที่ต้าเมี่ยว อาจารย์หวง ท่านชี้แนะว่า คนมีสี่รู้ คือ (1) รู้จำ ปัจจุบันดูตอนนี้ ดูหน้าตาแล้ว รู้จำทั้งนั้นเลย เพราะเวลาจะขยายอะไร จึงขยายไม่ออก เราฟังมาแค่นี้ พอถามมาก็หยุดอยู่แค่นี้ ตอบต่อไม่ได้ เพราะแค่รู้จำ แต่ไม่รู้จัก เราจำว่า นิพพาน คือ ความว่าง
หลักในการศึกษาบำเพ็ญที่สำคัญ คือ เมตตา กล้าหาญ อดทน ท่านเหอเซียนโก เคยเมตตาบอกว่า เราเป็นผู้บำเพ็ญธรรม สิ่งสำคัญที่สุด ต้องมีความกล้าหาญ ถ้าเราไม่กล้าหาญ เราจะฝืนกระแสได้ไหม ไม่ได้ ปกติตอนนี้ที่เรามา คือ เราฝืนกระแส ถ้าเป็นคนอื่นตอนนี้เป็นอย่างไร ตอนนี้ใกล้ 10.00 น.แล้ว ห้างกำลังจะเปิดแล้ว จะนัดใคร ไปคุยตรงไหน อย่างไร แต่เรามาเรียนธรรมะ เราฝืนกระแส ไปอย่างนั้นแอร์เย็นกว่า เห็นของที่แว๊บ ๆ ในกระเป๋าก็ดิ้นได้ด้วย จะดึงออกไปข้างนอก อยู่ที่นี่ไม่มี แล้วเราชอบแบบไหม ชอบให้ดึงออก แต่มาอยู่ที่นี่ไม่ดึงออก จะดึงเข้ามาเติมอยู่เรื่อย อาวุโสบอกว่า เราต้องมีกระเป๋าเยอะ ๆ เวลามาฟังธรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะใส่ให้เรา เราไม่มีกระเป๋า จะรับบุญกุศลตรงไหน เพราะฉะนั้น ผู้น้อยมี 4 กระเป๋า และอีก 3 กระเป๋า รวม 7 กระเป๋า 7 วันพอดี มีกินทุกวัน ไม่อด เราไม่มีกระเป๋า เวลาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมตตาให้โชคลาภ จะใส่ตรงไหนได้ ไม่มีที่เก็บหมดเลย ของไท่อวิ้น อู๋ ปิ่งเฉียน เตี่ยนฉวนซือ เมตตาว่า ต้องมีกระเป๋า ไม่อย่างนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมตตาแล้ว มีแต่เสื้อไม่มีกระเป๋า แล้วจะเอาอะไรรับ เราต้องสำรวจตัวเราเอง
ไล่มาแค่ตื่นมา กินข้าว ต้องรู้จักกิน ไม่ทิ้ง ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย วันหนึ่งเรากินเกินควรไหม จริง ๆ พอพูดไปผู้น้อยกระทบนะ เพราะตัวเองรู้สึกว่าสมบูรณ์ไปนิดหนึ่ง คือกินเยอะไปหน่อย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมตตาว่า อย่าให้อาหารเจอร่อยเกินไป เพราะถ้าเรากินมาก คือ ผิดธรรม ธรรมะ คือ พอดี ไม่มีขาด ไม่มีเกิน เราทำอะไรที่ขาด ที่เกินหรือเปล่า พิจารณา สำรวจ เรามีสิ่งเกิน สิ่งขาดไหม ถ้าเกินต้องปาดทิ้งไปเลยจึงจะพอดี แต่ถ้ามันขาดต้องเติมลงไป โดยเฉพาะน้ำใจ มีกันหรือยัง ตอนนี้เราเริ่มจะมีน้ำใจแล้ว เพราะเริ่มยิ้มออกแล้ว จิตใจตอนนี้ เบาไม่เบา เมื่อกี้หนัก ๆ อยู่ใช่ไหม ใจยังร้อนรุ่มอยู่ แต่ตอนนี้เริ่มไม่ร้อนแล้ว เริ่มรู้สึก เออ ! ฟังก็ได้สบาย ๆ ธรรมะไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องลำบาก ไม่ใช่เรื่องเกินกว่าความเข้าใจที่เราจะรู้ได้ ธรรมะมีแค่นี้ อย่างอื่นไม่ใช่ธรรมะ เล็กขนาดเส้นผมผ่าแปดยังเข้าไม่ได้เลยธรรมะ ประตูธรรมะเล็กมาก แต่เมื่อใหญ่ขึ้นมา แม้ทั่วมหาจักรวาลนี้ก็ไม่เต็ม นี่คือ ธรรมะ
(2) รู้จัก เราจำมาว่า นิพพาน คือ ความว่างอย่างยิ่ง แล้วว่างอย่างยิ่งนั้นเป็นอย่างไร อาจารย์ถ่ายทอดธรรมะให้เรา ในขณะนั้น ว่างหรือไม่ว่าง ว่าง ไม่รู้อะไรเลย ไม่ได้คิดอะไร อ๋อ ! ว่างแบบนี้เอง แต่เราจำอารมณ์ที่อาจารย์ถ่ายทอดให้ได้ไหม จำไม่ได้อีก รู้จำ รู้จัก แต่ยังไม่รู้จริง
(3) รู้จริง รู้จริงจะรู้ได้อย่างไร วันนี้ที่เรามาศึกษาตรงนี้ ก็เพื่อให้รู้จริง ให้รู้ว่าธรรมะเป็นอย่างไร มีคุณสมบัติเป็นอย่างไร เมื่อธรรมะเกิดเคลื่อนตัวขึ้นมา เกิดอะไรขึ้นมา ธรรมะกับศาสนา ธรรมะเป็นอย่างนี้ เมื่อขยายออกมาจึงเกิดเป็นศาสนาออกมา เหมือนกับต้นไม้ เมื่อปลูกมีรากหยั่งลึกลงไปในดิน เราจะรู้ว่าคือต้นอะไร ต้องรอให้มีผล มีดอก เรารู้ว่า ธรรมะมีผลอย่างนี้ มะม่วงมีผลอย่างนี้ กินแล้วอร่อยดี ถ้าเป็นมะม่วงมันอย่าให้สุก ถ้าสุกไม่อร่อย ไม่มัน แต่ถ้าเป็นอกร่อง ถ้าไม่สุก กินไม่ได้ นี่คือ การรู้จริง
(4) รู้แจ้ง เกิดจากอะไร เราจึงจะรู้แจ้งได้ เราอ่านหนังสือ วิธีการปลูกมะม่วง ถ้าปลูกแล้วเท่านั้น เท่านี้ จะให้ดอก ให้ผล ปลูกแล้วรากใบเป็นอย่างนี้ ถ้ามีหนอน เราต้องทำอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่า รู้จริง แต่ยังไม่รู้แจ้ง เพราะไม่มีผลมากิน เรามาศึกษาตรงนี้ คือ การรู้จริง แต่เราทำอย่างไรจึงจะรู้แจ้งขึ้นมาได้ เราจะนำมรรคผลจากการบำเพ็ญของเรามาจากไหน มาจากการปฏิบัติ
พระ พุทธองค์ กล่าว ธรรมะเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน มรรคผลของใครก็ของคนนั้น ถ้าเราไม่ปฏิบัติ มรรคผลจะเกิดไหม นี่ก็เหมือนกัน อ่านตำราปลูกมะม่วง แต่ไม่เคยปลูกมะม่วง จะกินมะม่วงได้ไหม นี่เป็นการปรับทัศนคติ สัมมาทิฐิของเรา สัมมาดำริของเรา ว่างานธรรมะนั้นต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติ ไม่สำเร็จ ใช่ไม่ใช่ แล้วเราปฏิบัติกันหรือยัง วันนี้เขาบอกว่า มีงานธรรมะนะ ไปช่วยงานกันหน่อยนะ เราก็นัดคนไปดูหนัง อย่างนี้รู้อะไร รู้จำอย่างเดียวว่ามีงานธรรมะ แต่ไม่รู้จัก เพราะถ้ารู้จัก จะรู้ว่าธรรมะมีประโยชน์อย่างไร จะรีบ ๆ มา แล้วจะรู้จริง รู้ว่าตรงนี้ถ้าเราเป็นหน่วยธุรการ ต้องจัดเก้าอี้ กวาดพื้น ฯลฯ ทำอะไรบ้าง แต่เรามาถึงก็เดิน ๆ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี รู้จำว่าต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ แต่พอถึงเวลาก็เดินโต๋เต๋ ไม่รู้อีก สำรวจหรือยัง บทนี้สำรวจพิเศษ ผู้น้อยมาร่วมศึกษา เป็นสิ่งที่มองเห็น สัมผัสได้ในสิ่งที่พูด ง่าย ๆ ไม่ได้ยากเลย เพราะถ้าพูดลึกมาก ๆ จะไม่รู้เรื่อง เอาแบบง่าย ๆ ที่สุด และสะดวกที่สุดที่เราจะมาทำกัน
สี่ เที่ยงตรง คำว่า กายเที่ยงตรงนั้น เป็นอย่างไร คนที่ขาเป๋ทำอย่างไร จะตรงได้อย่างไร แล้วกายเที่ยงตรง ถ้าเป็นคนขาเป๋ เที่ยงตรงไม่ได้ ใช่ไหม เราต้องเข้าใจ มากระตุ้นให้คิด เราต้องใช้ปัญญา ไม่อย่างนั้น เราจะจำแค่รูปแบบ ธรรมะ ถามว่า มีแค่นี้เหรอ พระพุทธองค์สอนเรา 84,000 พระธรรมขันธ์ มนุษย์เรามีตั้ง 84,000 ธรรมารมณ์ แตกต่างกันไปแต่ละคน แต่มีธรรมะหนึ่งเดียวกัน ถ้าคนยืนขาเป๋ข้างหนึ่ง ทำอย่างไร ยืนตรงไม่ได้ อย่างนี้ไม่เที่ยงตรงใช่ไหม กายไม่เที่ยงใช่ไหม แล้วเที่ยงตรงตรงไหน ต้องรู้ตรงจุดนี้
กายเที่ยงตรง เที่ยงตรงตรงไหน อย่างไรจึงเรียกว่า กายเที่ยงตรง สัมมาอาชีพ สัมมากัมมันตะ อย่างนี้ตรงไหม กายเที่ยงตรง คือ การใช้กาย ในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ตรงใจฟ้า คือ สิ่งที่เป็นของควรทำ เราประกอบอาชีพที่ไม่ถูกต้อง ถามว่า กายเราตรงไหม ไม่ตรง เพราะเบียดเบียนคนอื่นเขา เวลาเรามอง เราอย่ามองแคบ ๆ คำว่า กายเที่ยงตรง อย่ามองแค่ว่ากายนี้ต้องตั้งตรง เพราะคนขาเป๋จะตรงอย่างไร บางคนขาสั้นข้างยาวข้าง จะทำอย่างไร ก็เที่ยงตรงไม่ได้ซิ อย่างนี้ก็รับธรรมะไม่ได้น่ะซิ มีบอกไหมว่าคนขาเป๋ห้ามรับธรรมะ ไม่มีบอก เพราะฉะนั้น กายเที่ยงตรง จึงไม่ใช่แค่ยืนตรง ๆ แต่เป็นการนำกายไปปฏิบัติในสิ่งที่ตรงกับใจของฟ้า มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อย่างนี้จึงเรียกว่า มีกายเที่ยงตรง
เวลาเรากราบไหว้พระ กายเราถูกต้องไหม เก็บคางหรือปล่า คางแตะหน้าอก สำรวมจิตหรือเปล่า มีใจเที่ยงตรง และวาจาเราเที่ยงตรงหรือเปล่า ระหว่างนั้นเราภาวนาอะไรหรือเปล่า คาถา 5 คำหรือเปล่า นี่อยู่ในขณะที่เราปฏิบัติตลอด เราไหว้พระแต่ละครั้ง เป็นการฝึกพวกนี้หมดเลย เราดูเหมือนกับว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ทุกครั้งที่มาตำหนักพระ พอกราบพระ นั่นคือ การฝึก การปฏิบัติตน บำเพ็ญตน ฝึกกายเที่ยงตรง วาจาเที่ยงตรง ใจเที่ยงตรง ความประพฤติเที่ยงตรง เมื่อมีจิตสื่อระลึกถึงฟ้า จิตเป็นหนึ่งเดียวกับฟ้า เราปฏิบัติออกมาเหมือนกับฟ้าหรือเปล่า เมื่อเราเป็นหนึ่งเดียวกับฟ้า เราจะเหมือนฟ้า ไม่อย่างนั้นคงไม่มีคำกล่าวว่า เอาใจฟ้ามาเป็นใจตน เอาจิตเมตตาของฟ้า มาเป็นจิตเมตตาของเรา เพราะเราเป็นหนึ่งเดียวกับฟ้า เมตตาเกิดขึ้นเอง
พระอาจารย์ บอกว่า ธรรมะไม่ใช่สิ่งยาก เพราะเป็นสิ่งง่าย ๆ เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ เพียงแต่ว่าเมื่อสงสัยแล้วไม่ถาม เมื่อไม่ถามก็คาอยู่อย่างนั้น เป็นหนทางตัดความสำเร็จ ที่พระพุทธองค์ บอกว่า นิวรณ์ห้า มีความสงสัยแล้วไม่ถาม มีความลังเลสงสัย มีความอาฆาตพยาบาท มีความอยากได้ มีความง่วง พวกนี้เป็นหนทางตัดความสำเร็จ แล้วเราจะกลับนิพพานกันไหม หรือ จะไม่กลับแล้ว เปลี่ยนใจ ฟังเยอะแล้วว่าทำไมลำบากนะ แต่จริง ๆ สิ่งเหล่านี้ง่าย ๆ ทั้งนั้นเลย ทำไม่ยากสักอย่างเดียว คิดว่า สิ่งเหล่านี้ยากไหม ไม่ยาก
วาจาเที่ยงตรง คือ ปิยะวาจา วาจาอันเป็นที่รัก พูดอย่างไรให้เขารักเรา แต่สิ่งนั้นจะต้องไม่ผิดต่อสัจจะ คุณจะติคนต้องติให้เป็น ไปบอกตรง ๆ ว่าเขาผิด อย่างนี้เป็นปิยะวาจาไหม เราต้องรู้จักใช้สำนวน อืมม์ ! ดีนะ แต่ถ้าเพิ่มตรงนี้อีกนิดหนึ่งจะดียิ่งขึ้นนะ เราฟังแล้วจะรื่น ก็ตินะ แต่ยังยอมรับได้ ไม่เหมือนกับบอกว่า โอ้โฮ ! ใช้ไม่ได้ ไม่เรียบร้อยเลย เออนี่ ใช้ได้ แต่ถ้าเอาผ้าชุบน้ำส่วนหนึ่งบิดหมาด ๆ มาเช็ด แล้วเอาส่วนที่แห้งมาเช็ดอีกทีนะ ตรงนี้จะไม่มีรอยให้เห็น จะไม่มีฝ้าปรากฏ แต่ถ้านำทิชชูมาเช็ด แต่พอมานั่งดูอีกที เอ ! ยังมีคราบอยู่นะ ถ้าเราบอกว่า โอ ! ไม่สะอาด คนทำเป็นอย่างไร ไม่พอใจแล้ว อย่างนี้วาจาเที่ยงไหม วาจาที่เที่ยงตรง คือ วาจาที่ไม่ก่อให้เกิดศัตรู ไม่ก่อให้เกิดกรรม วาจาที่เป็นกรรม มีอยู่ 4 ประเภท เวลาเราสำรวจตน ต้องสำรวจทุก ๆ เรื่อง หลัก ๆ ก็อยู่ในสามชัดเจน สี่เที่ยงตรง เพราะนี่คือ ศีลของผู้บำเพ็ญยุคขาว
เฉียนเหยินก็เมตตาอยู่เรื่อยว่า หากเราไม่ตรงต่อสามชัดเจน สี่เที่ยงตรง เราก็ยากที่จะกลับคืนได้ พุทธระเบียบเป็นตัวที่จะมาช่วยเรา ในการที่จะปฏิบัติสามชัดเจน สี่เที่ยงตรง เมื่อเรามีสามชัดเจน สี่เที่ยงตรงแล้ว พุทธระเบียบจะเกิดขึ้นเอง โดยที่ไม่ต้องไปบังคับ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นสภาวะของมันอย่างนั้นเอง ไม่มีอะไรพิเศษพิสดาร หนังสือเหล่านี้จะมีการกล่าวไว้เยอะ แต่ผู้น้อยจะไม่นำหนังสือมา เพราะถือว่าไปอ่านเองได้ อย่างในนี้จะมีคำที่เราขอขมามีอย่างไรบ้าง มีกี่ข้อ และวิธีการส่งเสริมจิต เราจะทำอย่างไร เล่มนี้เราก็ไปศึกษาได้ หรืออย่างเล่มนี้ คำว่า ไป่ ตัวแรก แปลว่า กระจ่าง ขาว สะอาด บทสำรวจตนเอง เพื่อให้จิตของเรานั้นสะอาด มีความสว่างขึ้นมา อันนี้เน้นในเรื่องของสัมมาทิฐิ สัมมาดำริ คือ ให้เราทำในสิ่งที่ถูกต้องในการบำเพ็ญ ทำไมเราต้องรับธรรมะ ทำไมเราต้องอย่างนั้น ทำไมต้องอย่างนี้ พูดให้เราอ่านได้ แต่เวลาปฏิบัติอาจจะไม่รู้ จะปฏิบัติอย่างไร ผู้น้อยจะเน้นการปฏิบัติเป็นหลัก พวกนี้ไปอ่านเอาได้ จะไม่ลงเข้าไป แต่มีหนังสือให้ไปศึกษา หลาย ๆ คนถ้าเคยฟังอาวุโสท่านอื่นมาร่วมศึกษาเล่มนี้ไปแล้ว ก็ไม่เป็นไร ผู้น้อยมาร่วมศึกษา ไม่นำตรงนี้มา ผู้น้อยนำเอาเรื่องของการปฏิบัติ จึงเริ่มตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาตอนเช้า และทบทวน
ท่านเอวี๋ยนหุย บอกว่า วันหนึ่งต้องมีการสำนึกกรรม 3 เรื่องด้วยกัน ของเราง่าย ๆ เลย ตื่นขึ้นมาวันนี้ เราจะทำความดีอะไร เมื่อวานที่ผ่านมา เราทำสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องบ้าง ที่ไม่เที่ยงตรงบ้าง ที่ไม่ชัดเจนบ้าง มีไหม เราทำหรือยัง ถ้าเราทำอยู่เรื่อย ๆ ทำอยู่เป็นประจำ ทำอยู่ทุกเวลาที่เราตื่นนอน จิตจะมีพลานุภาพ จะมีความทรงตัว เกิดสภาวะที่เรียกว่าญาณ พอทำไปเรื่อย ๆ การย้อนอดีตจะค่อย ๆ ชัดขึ้น ๆ ความผิดบาปต่าง ๆ ที่เรากระทำมาในอดีตจะเริ่มชัดขึ้น เมื่อเรารู้ว่าเราผิดบาปอะไร เราสำนึก ขอขมา แก้ไขว่าไม่กระทำอีก กรรมตรงนั้นจะสิ้นลง แต่ที่ผ่านมาเกิดปัญหา ก็คือ เรารู้ว่า เรากระทำกรรมอะไร เราสำนึกก็จริง แต่เรายังกระทำซ้ำ เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนี้ผิด เรารู้แล้ว แต่ทำไมเรายังกระทำผิดอีกล่ะ เพราะเราไม่ได้แก้ไข เราสำนึก แต่เราไม่แก้ไข เมื่อสำนึกแต่ไม่แก้ไข สุดท้ายจิตเราจะสว่างได้ไหม ไม่ได้ การที่ให้ทำช่วงเช้า ตอนที่ตื่นขึ้นมา เพราะขณะนั้น จิตเรากำลังว่าง ๆ เป็นช่วงที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อเราสำรวมพุทธจิตธรรมญาณ หายใจเข้าลึก ๆ ณ จุดนี้ แล้วย้อนระลึกนึกถึงวันวานที่ผ่านมา เมื่อคืนนี้ตอนเย็น กลางวัน ตอนเช้า ทำอะไรไปบ้าง นี่คือ สำรวจการกระทำของตัวเราเอง มีสิ่งใดบ้าง มีตอนไหนกายไม่เที่ยงตรงบ้าง ตอนไหนวาจาไม่เที่ยงตรงบ้าง ตอนไหนที่ใจไม่เที่ยงตรงบ้าง ตอนไหนที่ความประพฤติไม่เที่ยงตรงบ้าง เราทำเป็นประจำทุก ๆ วัน จะระลึกได้ 1 วัน แล้วข้ามกลับไป เราก็จะรู้หนี้กรรมในอดีตชาติที่เราเคยทำไว้ เมื่อเราระลึกรู้ตรงจุดนี้ได้ มีจิตใจที่สำนึก แก้ไข กราบขอขมาหน้าโต๊ะพระ หนี้บาปเวรกรรมนั้นจะได้รับการนิรโทษกรรม นี่คือ การบำเพ็ญในยุคนี้
อาวุโส บอกเป็นประจำว่า เรารับธรรมะแล้ว ตั้งใจศึกษา ปฏิบัติ บำเพ็ญ บรรลุธรรมชาตินี้ ไม่ต้องชาติอื่น ขนาดท่านเป็นโสดาบัน เป็นอย่างไร ต้องเกิดอีก 7 ชาติ แต่เราไม่ต้องเกิดแล้ว ทำไมล่ะ การที่เรามากราบพระแต่ละครั้ง กราบด้วยจิตสำนึก คือ การสำนึกขอขมา ถ้าเราสามารถระลึกเหตุแห่งกรรมขึ้นมาได้ เราก็ตัดตรงนั้นได้ เป็นการถอนรากถอนโคนของกรรม กรรมก็สิ้นสุด เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญกับคนที่บำเพ็ญในยุคนี้มาก ถ้าเราหาต้นเหตุของกรรมไม่เจอ เราจะไปตัดกรรมตรงไหน แล้วกรรมทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากที่ไหน กรรม คือ การกระทำ แต่เหตุของการกระทำเกิดจากใจ
พระพุทธองค์ กล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง มีใจเป็นประธาน มีใจเป็นหัวหน้า ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ กรรมบางอย่างไม่ปฏิบัติ เพียงแค่คิดก็เกิดเป็นกรรมขึ้นมาทันที กรรมบางอย่างปฏิบัติออกมาแล้วจึงเป็นกรรม ที่เรียกว่า กรรมบถสิบ ได้แก่ กาย 3 (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดประเวณี) วาจา 4 (พูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ) และ ใจ 3 (โลภ โกรธ หลง) เรามาศึกษาด้วยใจหรือเปล่า ให้พิจารณาตัวเอง ชั้นเรียนนี้เรามาเรียนจนกระทั่งจะจบหลักสูตรแล้ว แต่ละหัวข้อ เราได้อะไรบ้าง อย่าปล่อยให้ผ่านไป เพราะเรามีปัญญาแล้ว อย่าเรียนให้แค่เป็นลมที่ผ่านหูไป เรามาเป็นประโยชน์แก่ตัวเราเองได้ การสำรวจ การพิจารณาตัวเอง ใช้ใจตัวนี้แหละมาประกอบ เอามาพิจารณา ตรงไม่ตรง เที่ยงไม่เที่ยง ชัดเจน หรือไม่ชัดเจน ง่าย ๆ ใจโลภ ใจโกรธ ใจหลง 3 ตัว เป็นตัวทำให้เกิดกรรม ใจโลภ อยากได้ คำว่า โลภ ถ้าเป็นของของเราเอง เราอยากได้ ถือว่าโลภไหม ไม่โลภ เพราะเป็นของของเรา คำว่า โลภ คือ อยากได้ของคนอื่น ถ้าเป็นของเราอย่างนี้ ไม่เรียกว่า โลภ หลาย ๆ คนไปตีความที่พระพุทธองค์สอนให้สันโดษ แล้วก็เลยเฉื่อยชา เลยไม่เข้าใจในหลักธรรม เราจึงไม่ค่อยใช้ธรรมะกันเท่าไหร่
ความโกรธ เป็นอย่างไร เวลาเราโกรธ เกิดจากการที่ตามากระทบ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ปากได้สัมผัส ผิวหนังได้แตะ กายได้รับรู้อารมณ์ แล้วเกิดโกรธตรงไหน ลำพังรับรู้ผัสสะต่าง ๆ ตรงนี้โกรธไหม คำพูดที่มาถูกหูเรา เราฟังเข้าใจความหมายที่เขาพูด แต่ตอนนั้นเราโกรธ หรือ ไม่โกรธ ไม่โกรธ พูดเข้าหูมา ทำไมเราจึงโกรธ แม่ครัวปรุงอาหาร พอได้ยินมาปั๊บก็ปรุง ใส่ไปเลย คำนี้เป็นคำด่า เรียนมา สัญญาว่า คำว่ากู เป็นคำไม่สุภาพ ตอนที่ได้ยินคำว่า กูคำแรก ๆ เป็นอย่างไร เด็กเฉย ไม่รู้เรื่อง ได้ยินแต่ทำไมไม่โกรธ สิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร สมมุติว่าเราตียุงเจ็บไหม น้ำหนักเท่ากัน แต่ถ้าคนอื่นมาตีเรา ไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนเราตีตัวเอง ไม่เจ็บ แต่คนอื่นมาตีเรา ทำไมเราเจ็บ คนอื่นมาตีเราก็เหมือนกัน แต่มึงตีกู ไม่ใช่กูตีกู ใช่ไม่ใช่ โกรธอยู่ตรงไหน ตรงมึงตีกู เวลาที่มีอะไรมากระทบเรา ที่เป็นตรงนั้น เป็นเพราะอะไร เพราะเราไปปรุงแต่ง ไปเป็นแม่ครัว เผ็ดบ้าง เปรี้ยวบ้าง เกิดโทสะขึ้นมา ทำไมเด็กไม่โกรธ เพราะเฉย ๆ เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรต่อ แต่เราเป็นอย่างไร อีกสิบปีก็ยังจำได้ แต่ถ้าเราตีตัวเองเป็นอย่างไร เราลืมแล้ว เราจะตัดมันทิ้ง ง่ายหรือไม่ง่าย รู้เหตุก็ดับที่เหตุก็จบแล้ว ใช่ไม่ใช่ เรารู้เหตุแล้วว่าเราไปปรุงแต่ง เขาจึงบอกให้อุเบกขา อุเบกขา เฉย อย่าไปสนใจ มันมากระทบก็แค่นั้นเอง อย่าไปสนใจ ถ้าเราไปต่อเรื่อง ไม่ใช่แค่นี้แล้ว มันยาวเป็นอย่างอื่นอีก อย่างนั้นมีความสุขไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น ต้องสำรวจตัวเองให้เรามีความสุข อะไรที่ทำให้เรามีทุกข์ เราตัดให้หมด บทตรงนี้มาให้เราบำเพ็ญ แก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นความเห็นผิด ๆ อันนี้คือตัวกู ตนตัวนี้ ไม่ใช่ตัวนี้
พระ พุทธองค์ บอกว่า ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ในกายกว้างศอก ยาววา หนาคืบ ไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้น ตัวนี้จึงไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน เมื่อเราสำรวจตน สำรวจตรงนี้ ไม่ใช่สำรวจกาย เป็นอย่างไร ผมดำอยู่หรือเปล่า หน้าตาวันนี้ทาแป้งหรือยัง เราสำรวจกันทุกวัน แต่สำรวจตนที่ไม่ใช่ตน วันนี้ปากทาลิปมันแล้วหรือยัง ฟันเราวันนี้ใช้ไหมขัดหรือเปล่า แต่เราสำรวจกันเยอะนะ สำรวจทุก ๆ วัน อยู่หน้ากระจก เพราะฉะนั้น ต้องสำรวจตนที่ถูกต้อง จึงให้สำรวจได้แต่ตอนตื่นนอน พอลืมตาขึ้นมา รู้สึกตัวขึ้นมา พิจารณา สำรวจตนเอง วันนี้เราจะทำความดีอะไร เมื่อวานนี้ทำสิ่งไม่ดีอะไร วันนี้เราจะไปขอขมาใครที่เราทำไม่ดีเมื่อวาน วันนี้เราจะไปผูกบุญกับใคร ปณิธาน 2 ข้อที่ตั้งไว้ เราจะทำได้อย่างไร เราจะเห็นงานธรรมสำคัญกว่างานโลกได้อย่างไร เราจะให้ทรัพย์เป็นทาน วิทยาธรรมเป็นทาน แรงกายเป็นทาน ได้อย่างไร สำรวจ เราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถทำอย่างนี้ได้ สำรวจ เมื่อสำรวจแล้ว ไปกระทำ เกิดผลเป็นบุญ เป็นกุศลไหม แล้วจิตเราเป็นอย่างไร ถ้าเราทำอย่างนั้น ทรัพย์เป็นทาน วิทยาธรรมเป็นทาน แรงกายเป็นทาน เป็นการให้ ไม่ใช่เป็นการรับ เมื่อให้ออกเป็นอย่างไร หนักไหม ก็เบาลง เมื่อเบาลง จิตใจที่มีกิเลสลดลงก็เริ่มสว่างขึ้น มาถึงตอนนี้สำรวจไปได้บ้างหรือยัง
ความ ประพฤติอย่างไร เรียกว่าเที่ยงตรง ความประพฤติเกิดจากอะไร ตัวนี้เหมือนกับบุคลิกภาพ มีภาพที่ปรากฏออกมา ว่าเราเป็นคนลักษณะนี้ บุคลิกภาพเกิดจากใจ เกิดจากวาจา และกายมารวมกัน ซึ่งทำเป็นประจำ จนกระทั่งเกิดเป็นความเคยชิน ทำโดยอัตโนมัติ เรียกว่า ความประพฤติ แต่เมื่อย้อนกลับลงไป ไล่ตั้งแต่การกระทำที่เป็นประจำ เกิดจากการที่พูดเป็นประจำ เกิดจากการที่คิดเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นสามชัดเจน สี่เที่ยงตรง สุดท้ายอยู่ที่ตนเอง แต่ตนเองที่ว่าไม่ใช่ตัวนี้ ตนเองที่ว่า คือ หนึ่งนี้ แต่ถามว่า ตัวนี้คือหนึ่งหรือเปล่า หนึ่งไม่ใช่หนึ่ง เพราะมีหนึ่งก็มีสองสามสี่ตาม แต่ถ้ามีลำพังอย่างเดียว ไม่มีหนึ่ง บทนี้เป็นบทให้คิดอย่างเดียว ให้เราพิจารณา เราต้องเข้าใจในธรรมะให้ได้ เราจึงจะปรับตัวเราเองได้ หากเราไม่สำรวจตัวเอง ไม่เข้าใจรากฐานของมันจริง ๆ เราก็จะปฏิบัติไม่ได้ บำเพ็ญไม่ได้ ถ้ามีอย่างเดียว ไม่ต้องนับหนึ่ง ธรรมะมีหนึ่งเพราะมีอย่างอื่นนับตามมา แต่เมื่อไม่มีนับ ทุกอย่างไม่ต้องนับ สภาวธรรมเป็นสภาวะที่ไม่แบ่งแยก เมื่อไม่แบ่งแยก จึงไม่มีแม้แต่หนึ่ง เพราะหนึ่งคือการเปรียบเทียบ มีนี่ชิ้นหนึ่ง จึงมีชิ้นที่สองตามมา เพราะฉะนั้น ธรรมะไม่มีหนึ่ง แต่หนึ่งตรงนั้นที่พูดมา เพราะว่าอยู่ท่ามกลางของโลกนี้ เป็นทวิภาวะ จึงเกิดมีหนึ่งขึ้นมาได้ เมื่อเราถึงหนึ่งแล้ว หนึ่งนี้เราต้องมีอีกไหม เราแจวเรือข้ามฝั่งไปแล้ว เราต้องแจวอีกไหม พวกนี้ต้องคิด พวกนี้จะเป็นสัมมาทิฐิ ต้องเข้าใจ เมื่อไหร่ก็ตามเกิดการเปรียบเทียบ เมื่อนั้นไม่ใช่ธรรมะ เมื่อไหร่มีจุดอ้างอิง เมื่อนั้นก็ไม่ใช่ธรรมะอีกเหมือนกัน ธรรมะไม่มี จึงเรียกว่า ว่าง แต่ในว่างมีไม่ว่าง ในไม่ว่างมีว่าง เมื่อเกิดเป็นสองขึ้นมา จึงมีหนึ่ง มีสอง มีขาว มีดำ ในท่ามกลางความขาวก็มีความดำอยู่ ท่ามกลางความดำก็มีความขาวอยู่ ในท่ามกลางดวงอาทิตย์ ก็มีจุดดับในดวงอาทิตย์อยู่ ในจักรวาลนี้มีดาวฤกษ์อยู่ ก็มีจักรวาลซึ่งมืดมิดอยู่ พวกนี้เป็นทวิภาวะหมด จึงเป็นหนึ่ง สอง ขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีทั้งสองอย่างนี้ หนึ่งก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ สอนไว้ว่า เราศึกษาธรรมะแล้ว ปฏิบัติธรรมแล้ว สุดท้ายก็ไม่มีแล้ว บทนี้ฟังแล้วยากก็ยาก ง่ายก็ง่าย ถ้าไม่มีกรรมก็จบแล้ว ไม่มีกรรมจะต้องเวียนว่ายตายเกิดไหม เมื่อไม่มีกรรมก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ไม่มีตัวเดียวก็จบแล้ว ใช่ไม่ใช่ เพราะเรามาศึกษา ปฏิบัติ บำเพ็ญธรรม เพื่อที่จะไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด แล้วทำไมไม่มี มันว่าง และทำไมจึงว่างได้ เพราะเราบำเพ็ญตัวเราเอง ถ้าเราไม่รู้จักคิด ใครจะสำรวจได้ บทนี้ให้เราสำรวจตัวเราเอง เราบำเพ็ญตัวเราเอง เราปฏิบัติตัวเราเอง สิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ
พระพุทธองค์ บอกว่า ได้ยินสักแต่ได้ยิน ได้เห็นสักแต่ได้เห็น ไม่ไปปรุงแต่งต่อ มันก็หยุดตรง ณ ตรงจุดนั้น ไม่เกิด ไม่ว่าจะโลภ โกรธ หลง ก็ไม่ตามมา พระพุทธองค์สอนเรา ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน เมื่อก่อนเราได้ยิน แต่เราไม่สักแต่ได้ยิน พูดอย่างนี้ ว่าเรานี่หว่า พอว่าเรานี่หว่า ก็เริ่มมีอารมณ์ปุด ๆ ขึ้นมาแล้ว เกิดกรรมแล้ว ใจเริ่มเกิดโทสะ ใจเริ่มจะมีอาฆาตขึ้นมาแล้ว เอาเรื่อง แต่ถ้าสักแต่ได้ยิน ก็ไม่เอาเรื่อง ไม่มีโทสะแล้ว อาฆาตไม่มีแล้ว กรรมเกิดไหม ไม่เกิด
เพราะฉะนั้น เราจึงต้องรู้ใจตน ใจเราเก็บข้อมูลไว้เยอะ สั่งสมมาหลาย ๆ ชาติ สิ่งนั้นเรียกว่า กรรม พระอาจารย์ บอกว่า เรามาบำเพ็ญธรรม ในอาณาจักรธรรมตรงนี้ เป็นการชดใช้กรรมสามชาติในชาติเดียว กรรมสามชาติ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต คนมีกรรมสามชาติ เพราะถ้าหากเราไม่ได้รับธรรมะ เราไม่ได้มาศึกษา ปฏิบัติ บำเพ็ญธรรม กรรมในอนาคตก็ต้องมารับ กรรมในปัจจุบันก็รับอยู่แล้ว การกระทำปัจจุบัน ไม่มีธรรมะ จึงเตรียมสร้างกรรมที่จะไปรับในอนาคต อดีตที่ผ่านมาเรารู้แล้ว ปัจจุบันเรารับอยู่ กรรมทั้งสามชาตินี้ ต้องถูกชำระให้หมดภายในชาตินี้ เราจึงกลับคืนนิพพานได้ ถ้าเรายังมีหนี้กรรมอยู่ เรากลับไม่ได้ แล้วกรรมพวกนี้จะรู้ได้อย่างไร จะชำระได้อย่างไร ทำไมเราประชุมธรรมะแล้ว จึงได้รับลดหนี้กรรม 70 เปอร์เซ็นต์ ทำไมพระแม่องค์ธรรมจึงต้องเมตตาด้วย ทำไมเราจึงโชคดีเหลือเกิน รับธรรมะ ถอนชื่อจากบัญชีพระยายม พอประชุมธรรมะ ได้ลดหนี้กรรม 70 เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสมาศึกษาธรรมะ มีโอกาสปฏิบัติงานธรรมะ แล้วเรากลับนิพพานชาตินี้ได้ เป็นเพราะอะไร กรรมใครคนนั้นต้องไปรับ กรรมใครคนนั้นต้องไปใช้ พระอาจารย์แบกกรรมให้ได้จริง แต่ว่าไม่ได้แบกให้เสมอตลอดไป ไม่ใช่ สุดท้ายเราต้องไปชำระเอง ทำไมล่ะ เราจึงได้อย่างนี้ สำรวจเข้าไปในจิต ก่อนจะตอบให้เราพิจารณาที่จิตของเรา เอ ! อาวุโสถามมาอย่างนี้ เป็นเพราะอะไรหนอ เวลาผู้น้อยร่วมศึกษา ถ้าเมื่อไหร่ตอบไม่ได้ จะใช้หนึ่งจุดนี้หาคำตอบ เป็นการสำรวจเข้าไปที่จิตของเราเอง ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับฟ้า เก็บข้อมูลของฟ้าเอาไว้ คำตอบจะปรากฏขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้น การสำรวจตนเอง จึงเป็นการสำรวจกลับไปที่จิตของตัวเราเอง ว่าเรานั้นมีกรรมอะไรอยู่ เรานั้นมีสิ่งใดที่ไม่ถูกอยู่ เรานั้นสำนึกไหม เรานั้นตั้งใจจะแก้ไขไหม ในปณิธานสิบ ข้อที่ 2 ผู้ชายจะสำนึกด้วยใจจริง เพราะผู้ชายยากจะสำนึกได้ ถามว่า ผู้ชายรู้ไหมว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูก รู้ แต่ทำไมไม่ปฏิบัติ เพราะไม่สำนึก แต่ผู้หญิงจิตใจละเอียดอ่อน จะสำนึกได้ง่าย แต่ไม่มีหลักที่มั่นคง ต้องอาศัยศรัทธาเป็นตัวยึดเหนี่ยว ผู้หญิงสำนึกได้ง่าย เพราะมีความละเอียดอ่อนของจิตใจของผู้เป็นแม่อยู่แล้ว จะมีจิตสำนึกในสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย แต่ผู้ชายจะหยาบกว่า เพราะฉะนั้น ผู้ชาย การสำนึกเป็นเรื่องสำคัญ สำนึกได้เมื่อไหร่ หนี้กรรมก็สิ้นสุดลงได้ แต่ผู้หญิงสำนึกได้ง่าย แต่เดี๋ยวสำนึก เดี๋ยวก็หาย ไม่สำนึกแล้ว จึงต้องมีศรัทธา ความเชื่อมั่น ความมั่นคง สำนึกนี้จึงจะรักษาให้ต่อเนื่องต่อไปได้เรื่อย ๆ เมื่อสำนึกต่อไปเรื่อย ๆ จึงไม่กระทำผิดบาป ของผู้ชายนั้น ถ้าสำนึกเมื่อไหร่ไม่กระทำ เพราะมีความมั่นคงอยู่แล้ว ผู้ชายมั่นคง ทำอะไรก็มั่นคง แต่ผู้หญิงเป็นอย่างไร เดี๋ยวคนนี้มาบอก ดีนะ ไม่ดีนะ เริ่มใจแกว่งแล้ว ดี ไม่ดี อีกวันหนึ่งก็ไป อีกวันหนึ่งคนนี้มาบอก ก็ไม่ไป เป็นอย่างไร เป็นไม้ปักเลน เรามีธรรมะหรือเปล่า ตนเราไปไหนเสียแล้ว ตนที่แท้จริงอยู่ตรงไหนแล้ว เรามาสู่อาณาจักรธรรม อาศัยกายเนื้อบำเพ็ญกายจริง แต่ทำไมเราปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ เรากลับอาศัยกายปลอมอย่างเดียว ไม่อาศัยกายจริงเลย ใครคิดว่าตัวเองกำลังใช้กายจริงในการบำเพ็ญอยู่บ้าง กายจริงอยู่ที่ไหน ทุกคนรู้ แต่ทุกคนไม่เคยใช้
สมัยก่อน ตอนผู้น้อยเริ่มศึกษาใหม่ ๆ ผู้น้อยก็ใช้ไม่เป็น จนกระทั่งไปฟังหัวข้อไตรรัตน์วีถีจิต จึงเริ่มที่จะเข้าใจ และใช้เป็น และเริ่มที่จะหาคำตอบได้เอง โดยไม่ต้องถามอาวุโส โดยใช้หนึ่งจุดตรงนี้ หาคำตอบให้ตัวเอง บทนี้เป็นบทเสริม ไม่มีอยู่ในหัวข้อชั้นเรียนต่าง ๆ เป็นหัวข้อที่นำมากระตุ้น การใช้กายจริงออกมาแก้ไขสิ่งต่าง ๆ เป็นการบำเพ็ญ
การ บำเพ็ญ คือ แก้ไขสิ่งผิด ถามว่า สิ่งผิดนั้นอยู่ตรงไหน หาจากที่ไหนได้ เราจะแก้ไขสิ่งผิด ถ้าเราหาสิ่งผิดไม่เจอ เราจะแก้ได้ไหม (ไม่ได้) แล้วเราจะหาสิ่งผิดได้จากไหน (จากการสำรวจตนเอง) เราจะแก้ไขโดยการสำรวจตน สำรวจตรงไหน สำรวจที่จิต เราสำรวจง่ายไหม จิตมีรูปลักษณ์ให้เราจับไหม เราดูจากตรงไหน เราดูจากสามชัดเจน สี่เที่ยงตรง หากเราชัดเจน ก็ไม่มีสิ่งผิด หากเที่ยงตรงก็ไม่มีสิ่งผิด การไปค้นหาไม่ง่าย เหมือนกับซ่อมบ้าน กับสร้างบ้าน อันไหนจะง่ายกว่ากัน การสร้างบ้านง่ายกว่า เราเอาจิตตรงนี้มาทำให้เกิดความชัดเจนเที่ยงตรง ในอดีตที่เราไม่เที่ยงตรง จากตรงนี้จะไปแปรให้กลายเป็นเที่ยงตรงไปหมด เพราะฉะนั้น บางครั้งระลึกของเดิมไม่ได้ เราก็สร้างของใหม่ให้ชัดเจน และเที่ยงตรง ตัวนี้จะเป็นรากฐานให้ชัดเจน และเที่ยงตรงต่อไป เป็นการนำเอาหัวข้อสามชัดเจน สี่เที่ยงตรงไปปฏิบัติ เราฟังมาเยอะแล้ว แต่เรานำไปใช้แล้วหรือยัง เรามาดูซิว่า นั่งอยู่ตรงนี้ ใจเราเป็นอย่างไร ร้อนไหม เย็นไหม หรือชาเย็น อบอุ่นไหม สำรวจตัวเราเอง
ผู้น้อยเคยมี ประสบการณ์ ในการฝึกนั่งสมาธิ เวลาจิตเข้าสู่ความว่าง จะมีความรู้สึกวาบ ๆ ที่อก เย็นแต่ไม่เยือก คือ ไม่ได้หนาว เย็นแบบสบาย มีความสบายใจ จิตมีความปิติ เพราะฉะนั้น เวลาเราฟังธรรม ถ้าเราฟังไปแล้ว จิตเราร้อนผ่าว ๆ เป็นอย่างไร ขณะนั้นเราไม่ชัดเจนแล้ว เราไม่รู้ว่าตอนนี้เรากำลังอยู่งานธรรมะ เราไม่รู้ว่า เรากำลังศึกษาธรรมะ ใจเราฟุ้งซ่าน สำรวจตัวเองง่าย ๆ เลย ทุกคนรู้ว่าใจตนเองเป็นอย่างไร ผู้น้อยไม่รู้ใจของท่าน ผู้น้อยรู้ของตัวเองอย่างเดียว แต่ทุกคนรู้ของตัวเอง
เวลาเรามาทำงานธรรมะ สำรวจตัวเอง เบิกบานไหม ตื่นไหม มีความสุขไหม เมื่อไหร่ก็ตามเรามาทำงานธรรมะ เรารู้สึกอย่างนี้ ดีใจ มีความสุข เรียกว่า เรากำลังเข้าสู่ สามชัดเจน สี่เที่ยงตรง เพราะจะไม่คิดเลยว่า เอาเปรียบนะ หายหมดเลย ดีใจที่ได้ร่วมงานธรรมะ ไม่เหนื่อย เพราะอยากจะทำ แต่เมื่อไหร่เกิดความเบื่อ ความเหนื่อยขึ้นมา เพราะไม่อยากทำ บางครั้งต้องมาทำ เพราะต้องการบุญกุศล แล้วบุญจะได้ไหม กุศลจะได้ไหม หนี้กรรมจะได้ลดไหม เพราะฉะนั้น วิญญาณต่าง ๆ เวลาเขามา เขาบอกว่า พวกนี้มันไม่ตั้งใจทำจริง มันขาดความจริงใจ
เพราะฉะนั้น บทสำรวจตนเองตรงนี้ คืออะไร ให้เรามาพิจารณาตัวเองว่า ขณะนี้เราใช้ใจจริงของเราหรือเปล่าเท่านั้นเอง เราทำอะไรก็แล้วแต่ เมื่อไหร่ก็ตามไม่ว่าจะเป็นงานทางโลก ทางธรรม หากมีจิตใจลักษณะนี้เกิดขึ้นมาได้ ขณะนั้นเราอยู่ในงานธรรมะทันที ขณะนั้นไม่ว่าจะทำงานอะไร ก็มีบุญกุศล เกิดขึ้นทันที เพราะตรงฟ้า ตรงดิน ธรรมะอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่แบ่งทางโลก หรือทางธรรม แต่ตอนนี้เรามาแบ่งขอบเขต แต่จริง ๆ แล้วธรรมะไม่สามารถห่างเราได้แม้แต่วินาทีเดียว แล้วทำไมเราต้องมาแบ่งด้วยว่างานโลก งานธรรม ทำไมล่ะ ทำไมต้องมีดี มีชั่ว สุดท้ายเราทำอะไรเพื่อธรรมะหมด ต้องพิจารณาตัวเราเอง หัวใจข้อนี้คือ พิจารณาตนเอง เข้าใจธรรมะ ให้เข้าใจอย่างกระจ่าง เพราะทุกอย่างคือธรรมะ
ตอน นี้แนะนำหนังสือให้อ่าน มีบทสำรวจตนเอง ซึ่งไม่เหมือนกับที่ผู้น้อยร่วมศึกษา ตรงนี้จะเป็นแนวในเรื่องของการปรับทัศนคติ ส่วนในหนังสือพุทธระเบียบ จะเป็นหัวข้อชัดเจนออกมา ว่าให้เราค้นหาความผิด เพื่อจะแก้ไข เพราะเมื่อกี้คือพูดกว้าง ๆ ไม่ได้เจาะลึกเป็นเรื่อง ๆ อย่างเช่น เราไม่เชื่อมั่นว่าธรรมะนี้ทำให้หลุดพ้นจริง อย่างนี้ก็ผิดแล้ว เรียกว่า มโนกรรม นี่คือ การหลอกลวง ผิดปณิธานสิบ หลอกลวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่เคารพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุณมา คุณยังไม่เชื่อ ดีแต่พูด ไม่ลงมือปฏิบัติ ผิดอีก มีตำหนักพระ ไม่จุดธูปตรงเวลา หรือจุดเป็นบางครั้ง ผิดอีก ตัวนี้แจกแจงออกมาเป็นข้อ ๆ มีทั้งหมด 100 ข้อ ให้ไปศึกษาดู แต่ถ้าหากทุกคนใช้อย่างที่ผู้น้อยร่วมศึกษาเมื่อสักครู่ ทุกอย่างจะได้เอง เพราะเราดูที่จุดเริ่มต้น เหล่านี้คือปลีกย่อยที่ ขยายออกมาให้เห็นภาพชัดเจน แต่ถ้าเราใช้ ณ จุดเริ่มต้นตรงนี้ ตามที่ผู้น้อยบอกแต่แรก จะกระทำได้โดยธรรมชาติ ไม่ต้องมานั่งคิด ว่าวันนี้เราจุดธูปไหว้พระแล้วหรือยัง เพราะถึงเวลาเท้าเราพาขึ้นไปเอง ใจเราทำเอง กายเราทำเอง ทุกอย่างเที่ยงตรงฟ้าดิน ทุกอย่างอยู่ในสภาวะของฟ้าและดิน ทุกอย่างจะเป็นธรรมชาติ ปฏิบัติโดยที่ไม่ต้องคิด เป็นสิ่งที่พึงกระทำ
จึงบอกว่า พระอริยเจ้าไม่ก่อกรรม ทุกขณะจิตของพระองค์นั้นมีแต่ความสะอาด มีแต่ความสว่าง จึงไม่เกิดกรรมขึ้นมาได้ เราตอนนี้ก็เหมือนกัน เราต้องทำตรงนี้ ตัวนี้แปลว่า ขาว สว่าง กระจ่าง แจ้ง ถ้าเราทำตรงนี้ขึ้นมาได้ ใจเราคือใจอริยะ เมื่อเป็นใจของอริยะแล้ว จึงไม่ก่อกรรม ไม่ว่าเราจะทำกรรมใด ๆ ก็แล้วแต่ คือ การกระทำ เรามักจะคิดว่า กรรม คือสิ่งที่ไม่ดี แต่จริง ๆ กรรม คือ การกระทำ จะมีอกุศลกรรม และกุศลกรรม แต่เรามักจะอาศัย คำว่า กรรมตัวเดียว แปลว่า อกุศลกรรม
เพราะฉะนั้น อริยะเจ้าไม่ก่อกุศลกรรม แต่จะมีกุศลกรรมเกิดขึ้น สิ่งที่พระองค์ทำ ทั้งหมดจึงไม่มีบาป ไม่มีเวร ไม่มีกรรม จึงอิสระ มีความว่าง เราทุกคนเป็นว่าที่พุทธะ ถ้าเรานำใจของเราออกมาใช้ด้วยความกระจ่าง เราก็สามารถที่จะเป็นเหมือนอริยะเจ้าได้ เราจะทำทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่เกี่ยวกรรม
ผู้น้อยพยายามจะบรรยายให้ง่าย ๆ ที่สุด ผู้น้อยด้อยความรู้ ความสามารถ ร่วมศึกษาได้เพียงแค่นี้ พูดผิดสิ่งหนึ่ง สิ่งใด พูดแล้วไม่ชัดเจน พูดแล้วไม่เข้าใจ ก็ขอเบื้องบนเมตตา ประทานอภัย อาวุโสทั้งหลาย ช่วยส่งเสริม ชี้แนะ ขอบคุณครับ
No comments:
Post a Comment