Sunday

มหาปณิธาน

มหาปณิธาน


มหาปณิธาน อันเกิดจาก มหากรุณา ของพระโพธิสัตว์มากมายหลายพระองค์ที่เราได้รู้มาว่า หลังจากจะสังขารกลับคืนเบื้องบนไปได้ไม่นาน พระองค์ก็รีบอุบัติมาโปรดสัตว์อีกต่อไป อย่างเช่น พระพุทธจี้กง ของเราที่เจริญปฏิปทาพระโพธิสัตว์อยู่ในสมัยราชวงศ์ซ้อง เมื่อละสังขารไปแล้วก็ได้อุบัติมาโปรดสัตว์อีกในสมัยราชวงศ์ซิงพระองค์ก็คือ ซือจุน พระพุทธบรรพจารย์เทียนหยานของเรา ในพระชาติสงฆ์จี้กง พระอาจารย์ของเรา ได้ตั้งมหาปณิธานไว้สามข้อใหญ่ ๆ คือ

สำหรับในชั้นโลกุตตรเหนือโลก หรือที่เรียกว่า อนุตตรภาวะ คือ การเข้าถึงจิตเดิมแท้ธรรมญาณ พระอาจารย์ได้โปรดแสดงมหาปณิธานว่า

(1) “จะฉุดช่วยเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้กลับสู่ต้นธาตุต้นธรรมรากฐานเดิม”

สำหรับในชั้นโลกิยะ คือ ชาวโลกทั่วไปหรือที่เรียกว่า ปุถุชนคนทั้งหลาย คือ การเข้าถึงสามัญสำนึกของจิตใจพระอาจารย์ได้โปรดแสดงมหาปณิธานว่า

(2) “จะแปรเปลี่ยนสมัยนิยมตกต่ำให้โลกเป็นเอกภาพสันติสุข”

(3) “จะสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามดั้งเดิมของจีนให้เฟื่องฟู”

จะเห็นได้ว่าด้วยมหาปณิธานในข้อที่หนึ่งของพระอาจารย์นั่นเอง วันนี้เราทั้งหลาย จึงมีโอกาสได้รับวิถีอนุตตรธรรมบำเพ็ญจิตเดิมแท้ได้โดยตรงจากการจุดเบิกจากพระอาจารย์

พระพุทธจี้กงแบ่งพระภาคมาจาก “มหาพรหมราชเจ้าวิเสสสัทธธรรมญาณ หลิงเมี่ยวเทียนจุน”

ในพระภาคพระสงฆ์จี้กง ปฏิปทาของพระองค์คือ พระโพธิสัตว์ พระนามของ พระองค์คือ พระโพธิสัตว์ “จี้” แปลว่า สงเคราะห์ คือการให้ทานทุกสิ่งทุกอย่างอันเกิดประโยชน์สุขแก่มวลชีวิต “กง” แปลว่า เสมอภาคทั่วหน้า

บัดนี้ แม้พระอริยฐานะของพระองค์จะสูงส่งอยู่ในระดับพระพุทธะแล้วก็ตาม แต่มหาปณิธานและพระนามของพระองค์ก็ยังคงความเป็นโพธิสัตว์อยู่ต่อไป

ท่านหันเหล่าเฉียนเหยินของเราก็เช่นกัน ท่านเจริญปฏิปทาพระโพธิสัตว์ มากกว่าหกสิบปีชั่วชีวิตของท่านดำเนินอยู่บนหนทางของการสร้างบารมีทั้งสิ้น ท่านเคยแสดงปณิธานไว้ว่า กลับคืนไปแล้วจะกลับมาใหม่ เพื่อสานต่องานโปรดสัตว์ในธรรมกาลยุคสุดท้ายนี้ให้สมบูรณ์

คำที่ว่า “เหลือตนเองเป็นคนสุดท้ายแล้วจึงขอบรรลุโพธิญาณ” จึงน่าจะเป็น การแสดง มหาปณิธาน อันเกิดจาก มหากรุณา ด้วยเหตุผลดังกล่าว

พระโพธิสัตว์กวนอิมทรงมีมหาปณิธานอยู่ข้อหนี่งว่า

“เมื่อใดที่เสียงคร่ำครวญทุกข์ร้อนของชีวิตทั้งหลายยังไม่หมดไปจากโลกนี้ เราจะไม่ขอ เข้าสู่ปรินิพพาน”

พระโพธิสัตว์กษิคิครรภ์ก็ทรงมีมหาปณิธานอยู่ข้อหนึ่งว่า

“เมื่อใดทีวิญญาณผีทั้งหลายยังไม่หมดไปจากนรก เราจะไม่ขอเข้าสู่ปรินิพพาน” เมื่อพระองค์ไม่ขอเข้าสู่ปรินิพพานเช่นนี้ จะเป็นข้อแสดงว่า “พระองค์ยังไม่อาจ บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณกระนั้นหรือ”

อีกทั้ง “บารมี” อันเกิดจาก “มหากรุณา” ของทั้งสองพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญเพียรเรื่อย มานับพัน ๆ ปี ยังไม่เพียงพอกับการเข้าสู่ปรินิพพานได้หรืออย่างไร

น่าจะกล่าวได้ว่า แม้มิใช่ “ปณิธาน” อันเกิดจากพระ “มหากรุณา” ของพระองค์ในอันที่ จะโปรดกอบกู้อุ้มชูชีวิตทั้งปวงเรื่อยไปแล้วไซร้ ชาวโลกที่ประสบเคราะห์ภัยคงจะหยุดร้องหา

“พระโพธิสัตว์กวนอิม” ช่วยด้วยไปแล้วนับร้อยนับพันปี ดังจะเห็นได้ว่า

บัดนี้ แม้ทั้งสองพระองค์จะทรงพระฐานะเป็น “พระพุทธกษิติครรภ์” และ “พระบรรพพุทธาทะเลใต้” มาหกสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่พระองค์ก็ยังคงโปรดสัตว์นรกโปรดสัตว์โลกอยู่ต่อไปตามปฏิปทา มหาปณิธาน มหากรุณา ของพระโพธิสัตว์ที่อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์นรกและสัตว์โลกเสมอมา

พลานุภาพจากมหากรุณาของพระโพธิสัตว์ มีคำเปรียบเทียบแสดงให้เห็นไว้ว่า

ทันทีที่ได้สดับรับรู้ความทุกข์ของชาวโลก มหากรุณานั้นดุจดวงตะวันขณะโผล่พ้น เหลี่ยมเขายามเช้าตรู่ พลันรัศมีเจิดจ้าก็ฉาบฉายไปทั่วพื้นพสุธา พลานุภาพนั้นก็แผ่ซ่านไปทั่วสิบทิศดุจอากาศกว้างอันมิอาจประมาณขอบเขตได้เลย

เช่นนี้ในความรู้สึกนึกคิดของสาธุชน พระมหากรุณาของพระโพธิสัตว์จึงเป็นความ สว่างสดใส เป็นความอบอุ่น เยือกเย็นเป็นความสงบสบาย และดำรงคงอยู่ในจิตใจของชาวโลกเรื่อยไปไม่ดับสูญ

พระมหากรุณาจึงปรกแผ่ทั่วถึงทุกชีวิตโดยมิได้เลือกที่รักมักที่ชัง

จึงเปรียบได้ดังดวงจันทร์ที่ทอดเงาลงสู่ผืนน้ำทั้งขุ่นใสทั้งมหาสมุทรใหญ่และแอ่งน้ำ น้อย ๆ

พระมหากรุณาของพระโพธิสัตว์จึงน่าจะสรรเสริญได้ด้วยธรรมวจนะที่พระอาจารย์ “หย่งเจีย” มหาเถระได้รจนาไว้ว่า

หนึ่งจันทร์เพ็ญที่เห็นอยู่คู่เวหา

ทอดดวงมาปรากฏในทุกสายน้ำ

แม้แอ่งจ้อย บ่อน้อยนิด เพียงติดน้ำ

จันทร์ก็นำกำซาบไว้ในดวงเพ็ญ

พระโพธิสัตว์จึงได้รับการเทิดทูนสรรเสริญว่าเป็น “มหาจิตตะสามัญชน” และ “ธรรม จิตตะมวลชน” เพราะพระองค์อยู่ร่วมกับคนทุกชนชั้นได้โดยไม่รังเกียจ “แม้แอ่งจ้อยบ่อน้อยนิดเพียงติดน้ำ จันทร์ก็นำกำซาบไว้ในดวงเพ็ญ” จึงเป็นอุทาหรณ์อย่างดียิ่ง สำหรับผู้ปรารถนาเจริญมหาปณิธาน และปฏิปทาพระโพธิสัตว์ต่อไป

พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ทรงพระนามตามคุณสมบัติแห่งมหาปณิธาน ทรงพระนาม ตามคุณสมบัติแห่งมหาปฏิปทาของพระองค์ เช่น

พระโพธิสัตว์ กวนซื่ออิน พระผู้ทรงกรุณาสดับเสียงร้องทุกข์ของชาวโลก

พระโพธิสัตว์ กวนจื้อไจ้ (กวนอิม) พระผู้ทรงเกษมธรรมอันปลอดโปร่ง

พระโพธิสัตว์ ซวีคงจิ้ง พระผู้สถิตอยู่ในอากาศกว้างแห่งอุทรธรรม

พระโพธิสัตว์ เอวี้ยฮุ่ย พระผู้ทรงปัญญาอันวิสุทธิ์แจ่มกระจ่างดั่งเดือนเพ็ญ

พระโพธิสัตว์ วัชรครรภ์ (จินกังจั้งผูซ่า) พระผู้ทรงรัศมีธรรมอันล้ำเลิศดุจวัชรอันกล้าแกร่ง

พระโพธิสัตว์ ไภษัชยคุรุฯ (เอี้ยวซือผูซ่า) พระผู้ทรงมหากรุณาปณิธานจะรักษาโรคทุกชนิด

ปฏิปทาของพระโพธิสัตว์ นอกจากการสร้างบารมีทั้งสิบแล้ว ในขณะเดียวกัน

ยังจะต้องเพิ่มพูน “คุณความดี” ด้านต่าง ๆ โดยลำดับจนกว่าบารมีจะสมบูรณ์อีกด้วย คือ ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ในทุกชาติ เป็นความประพฤติที่ปราศจากการติเตียนและไม่สร้างกรรมใหม่ทั้งประกอบด้วยความรู้ กายวาจาใจ ก็อยู่ในกุศลกรรมบทสิบยิ่งกว่านั้น คุณความดีด้านต่าง ๆ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “มหากรุณาร่วมตัวตน” ถงถี่ต้าเปย

No comments:

Post a Comment